กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--
หน.โครงการวิจัยแพทย์พื้นบ้าน วางเป้าผลิตหมอเมืองรับมือโรคเรื้อรังทุกหมู่บ้าน แต่โอดระเบียบกฎหมายไม่เปิดช่องให้ยกระดับหลักสูตรการแพทย์ล้านนาขึ้นเป็นเอกเทศ ตั้งวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน 5 ปี ยังต้องอิงหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิตเป็นหลัก
ผศ.ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในงานประชุมปฏิบัติการเพื่อสังเคราะห์งานวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเด็นการแพทย์พื้นบ้าน ที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ว่าจากการเริ่มทำวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ของแพทย์พื้นบ้านล้านนา หรือหมอเมือง มาตั้งแต่ปี 2543 ทำให้พบว่าแม้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของหมอเมืองจะยังคงอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจสืบทอด เพราะต้องทุ่มเทเวลาและแข่งขันกันศึกษาในระบบมากกว่า ดังนั้นจึงได้เปิดวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และนำองค์ความรู้ของหมอเมืองเข้ามาจัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ในระดับปริญญาตรี 4 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
ปัญหาที่พบก็คือ ถึงปัจจุบันยังไม่สามารถแยกหลักสูตรการแพทย์ล้านนาออกมาเปิดเป็นเอกเทศได้ เนื่องจากติดขัดในกฎ ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายใบประกอบโรคศิลปะ ทุกวันนี้จึงต้องเปิดเป็นการแพทย์แผนไทยบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนไทย และสาขาการแพทย์ล้านนา โดยใช้สิทธิ์ของการแพทย์แผนไทยในการประกอบวิชาชีพ และใช้การแพทย์ล้านนาเป็นสีสัน หรือเนื้อหาสาระเสริม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะได้ ทั้งที่การแพทย์พื้นบ้านล้านนามีรากฐานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม และเป็นต้นตอของการแพทย์แผนไทย
ขณะเดียวกันการแพทย์แผนไทยปัจจุบัน ก็ถูกลิดรอนจนเหลือแค่การนวด กับการปรุงและใช้ยา เป็นหลัก ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการรักษาด้วยอาหาร หรือทางจิตใจ การแพทย์พื้นบ้านล้านนาจึงเป็นศาตร์ที่เติมเต็ม และเมื่อนำมาจัดหลักสูตรควบคู่กัน ก็ได้รับความสนใจจากเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทั้งเมื่อเรียนจนใกล้จบก็มีสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจสปา หรือคลินิก มาจองตัวจนผลิตบุคลากรไม่ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน
“ที่ผ่านมา มีนักศึกษาเรียนจบไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 79 คน เลือกประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยถึง 29 คน กลับมาช่วยทางวิทยาลัยฯ ประมาณ 10 คน ที่เหลือกระจายทำงานตามโรงพยาบาลเอกชน 5-6 แห่ง บางส่วนทำงานคลินิกแพทย์แผนไทย ธุรกิจสปา และบางรายได้รับการติดต่อให้ไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งยังมีการจองตัวนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่จำนวนมาก ทำให้มองเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และหลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิตได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวด เยาวชนแห่สมัครเรียนจนต้องคัดเลือก และกันโควตาสำหรับลูกหลานแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ชนเผ่า ปีการศึกษาละ 1 ห้องเรียน หรือประมาณ 30 คน”
ผศ.ดร.ยิ่งยง กล่าวต่อไปว่า ถ้าไม่จัดโควตาดังกล่าว ลูกหลานแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ชนเผ่า ก็จะถูกเด็กเรียนเก่งเบียด ส่งผลในระยะยาวทำให้การสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไป ดังนั้นในปีการศึกษาใหม่ จึงเตรียมเปิดรับนักศึกษาแพทย์แผนไทยบัณฑิตถึง 3 ห้องเรียน คือห้องเรียนที่เปิดทั่วไป 1 ห้อง ห้องเรียนที่ให้โควตาบุตรหลานของบุคลากรด้านสาธารณสุขกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ห้อง และห้องเรียนโควตาตามที่กล่าวข้างต้น อีก 1 ห้อง โดยจะพยายามจัดหลักสูตรให้เป็นสากล เชื่อมโยงองค์ความรู้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และแลกเปลี่ยนนักศึกษาในเขตประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้น
“ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทย 20 กว่าแห่ง ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของนักศึกษา และประชาชน เพราะการรักษาแบบแผนไทย เหมาะสมกับโรคเรื้อรัง เช่น อำมะพฤกษ์ อำมะพาต ปวดเมื่อยตามข้อ กระดูก ปวดศีรษะเรื้อรัง ฯ ซึ่งในประเทศไทยมีแนวโน้มว่าอีก 15-20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ การรักษาด้วยวิธีนี้จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ประหยัด และเข้าถึงประชาชนอย่างใกล้ชิดมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะต้นทุนการผลิตบุคลากรแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านต่ำกว่าแพทย์แผนปัจจุบันหลายเท่าตัว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตแพทย์แผนไทยออกมาประจำทุกหมู่บ้าน นั่นหมายความว่าอัตราส่วนระหว่างแพทย์กับประชาชน จะอยู่ในช่วง 1:1,000 ประชากร ขณะทีอัตราส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันกับประชาชน ยังเป็น 1:100,000 ประชากร” หัวหน้าโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน กล่าวในตอนท้าย.
ผู้ส่ง : saichol
เบอร์โทรศัพท์ : 0815685072