กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดงานครบรอบ 6 ปีการก่อตั้ง ในวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2551 พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการบริหารจัดการสาธารณภัยของไทยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้จัดงานครบรอบ วันคล้ายวันก่อตั้ง ในวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ได้มุ่งเน้นการจัดการภัยพิบัติเชิงรุกอย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และภายหลังเกิดภัย โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถรับมือภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเองตามแนวคิดจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน จำนวนทั้งสิ้น 3,173 หมู่บ้าน ตลอดจนจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนให้พร้อมทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานป้องกันภัยเชิงรุก ดังนี้ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) จำนวน 1,078,129 คน อาสาสมัครแจ้งเตือนดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) จำนวน 7,212 คน ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) รวม 5,184 ทีม จำนวน 52,331 คน และชุดเผชิญเหตุสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้สามารถสนธิกำลังปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีในยามฉุกเฉิน ที่สำคัญ ปภ. ยังได้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีบทบาทด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้วยการจัดให้มีแผนงาน สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม โครงการด้านการรณรงค์ความปลอดภัยในระดับชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงเร่งจัดวางระบบการแจ้งเตือนภัย และติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัย เช่น เครื่องไซเรนมือหมุน เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย และการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ เช่น SMS หอเตือนภัย เสียงตามสาย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนางานด้านการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชน ชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่