มธ.จับมือ TMC บ่มเพาะ “นักการตลาด ” คู่ “งานวิจัย” หวังตอบโจทย์งานวิจัยสู่การใช้เชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Tuesday October 7, 2008 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมมือกับ TMC บ่มเพาะ “นักการตลาด” รุ่นใหม่ ผลักดันการนำ “งานวิจัย” ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมชวนนักศึกษา และนักวิจัยร่วม การแข่งขัน Idea to Product โดยนำโจทย์ความต้องการของตลาดมาเชื่อมโยงกับ “การทำงานวิจัย” เพื่อให้ได้ “ผลงานหรือผลิตภัณฑ์” ที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง
การเรียนรู้เพียงภาคทฤษฎีในห้องเรียนคงไม่เพียงพออีกแล้วในปัจจุบัน ด้วยเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น นักศึกษาจำเป็นต้องเร่งหาประสบการณ์จากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับตนเอง และที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะนักการตลาดรุ่นใหม่ๆ ของประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การสร้างพื้นฐานความรู้และแบบทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติจริงให้กับนักศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แบบทดสอบหนึ่งที่ทางคณะได้จัดทำขึ้นโดยร่วมมือกับสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC ก็คือ “การวางแผนธุรกิจ” โดยนำโจทย์ความต้องการของตลาดมาเชื่อมโยงกับ “การทำงานวิจัย” เพื่อให้แผนธุรกิจดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และกลายเป็น “ผลงานหรือผลิตภัณฑ์” ที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การเรียนการสอนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและการเสริมสร้างผู้ประกอบการ โดยได้ผนวกเข้าไปในหลายหลักสูตร อาทิ โครงการปริญญาโทด้านการตลาดภาคภาษาอังกฤษที่มีการสอนให้นักศึกาาพัฒนาแผนธุรกิจและต้องแข่งขันนำเสนอผลงานเพื่อระดมทุนจากนักลงทุน โดยในแต่ละปีนักศึกษาจากโครงการนี้ยังได้เข้าไปค้นหาเทคโนโลยีจากศูนย์วิจัยต่างๆของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เพื่อนำมาใช้ในการสร้างแผนธุรกิจ
“นักศึกษาที่นี่ไม่ได้เรียนแค่ทฤษฎีอย่างเดียว แต่เป็นการนำปัญหาของธุรกิจในด้านต่างๆมาวิเคราะห์หาวิธีแก้ไข เพื่อให้ทราบความต้องการของลูกค้าและวิธีจัดการ ดังนั้นเมื่อมีความใกล้ชิดกันจะทำให้ทั้งนักการตลาดและนักวิจัย ร่วมกันพัฒนางานได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาของการทำธุรกิจ คือ ขาดการวางแผนการตลาดควบคู่ไปกับงานวิจัย และมักทำธุรกิจตามคนอื่นในรูปแบบการลองผิดถูกด้วยตนเอง แต่เมื่อมองต่างประเทศจะเห็นว่ามีการนำงานวิจัยเข้าไปสู่กระบวนการผลิตหรือภาคธุรกิจร่วมกัน ทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในภาคการผลิต และยิ่งมีการวิจัยและพัฒนาทำการทดลองที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น จะสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจได้มากขึ้นด้วย”
รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานักวิจัยกับนักการตลาดมีช่องว่างระหว่างกันค่อนข้างมาก บางครั้งนักวิจัยยังไม่เข้าใจในเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่ทราบปัญหา ความต้องการของตลาด ไม่ทราบโจทย์เพื่อนำไปทำงานวิจัย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคการศึกษาจะต้องเข้ามาเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดการสร้างผลงานที่มีคุณภาพ อาจารย์ที่คณะฯจึงมุ่งฝึกฝนและสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าแข่งขันในการประกวดแผนธุรกิจระดับนานาชาติ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้เป็นสนามทดสอบสำหรับเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ และสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีของประเทศไทยเข้าไปใช้ในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และเพื่อบ่มเพาะนักการตลาดให้ทำงานร่วมกับภาควิจัยต่อไปในอนาคต
ดังนั้นเพื่อผลักดันแนวคิดดังกล่าว สวทช.จึงเปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้เชิงพาณิชย์มากขึ้น โครงการ Lab to Market หรือ จากงานวิจัยสู่ตลาด จึงเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดี
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการ Lab to Market หรือ “จากงานวิจัยสู่ตลาด” เป็นโครงการที่สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่าน การแข่งขัน Idea to Product ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาธุรกิจและนักวิจัย รวมทีมนำเสนอ“แนวความคิดทางเทคโนโลยี” หรือ TECHNOLOGY SUMMARY โดยต้องอธิบายประโยชน์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์หรือคุณค่านั้น ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันจะได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการซึ่งเป็นนักธุรกิจ เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศเป็นผู้แทนภูมิภาคไปแข่งขันในระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาต่อไป
“สิ่งที่ TMC มุ่งหวังจากกิจกรรมนี้ คือ ผลงานวิจัยจาก 4 ศูนย์แห่งชาติของ สวทช. หรือจากสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้นำเสนอต่อนักลงทุน เพื่อทดสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและภาคธุรกิจได้ทำงานและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะกระตุ้นการสร้างไอเดียหรือแนวความคิดใหม่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับนักวิจัย นักศึกษา ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม
“การแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ หรือ Idea to Product ”
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ideatoproduct—asia.org
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ