กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในพื้นที่ภาคใต้ โดยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม พร้อมสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ประสานอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน และการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานการคาดการณ์สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงเดือนตุลาคม — ธันวาคม ๒๕๕๑ ร่องฝนจะเลื่อนพาดผ่านภาคใต้ และมีโอกาสที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนักตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพรลงไป เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในฤดูมรสุมนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๑๔ จังหวัด และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ระดับจังหวัด / อำเภอ / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดทำแผนเฉพาะกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ปี ๒๕๕๑ โดยวางระบบการเฝ้าระวัง แผนการอพยพ เส้นทางอพยพ การแจ้งเตือนภัย และกำหนดพื้นที่รองรับการอพยพ สำรวจปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดจนสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๔ ประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง และประสานกับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ใน๑๔ จังหวัดภาคใต้ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยง ๗๒๒ หมู่บ้าน และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่เสี่ยง ๑๙ หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น ๗๔๑ หมู่บ้าน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้พัฒนาระบบการเฝ้าระวังสำหรับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ดังนี้ จัดฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๗๖๗ คน ใน ๔๓๒ หมู่บ้าน อบรมทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) จำนวน ๗๓๕ แห่ง ฝึกอบรมการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานให้แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๘๑๒ หมู่บ้าน และฝึกอบรมสมาชิก อปพร. ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งสิ้น ๑๒๕,๖๒๙ คน พร้อมติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๙๔ เครื่อง เครื่องไซเรนมือหมุน จำนวน ๒๑๔ เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ เช่น เรือท้องแบน จำนวน ๓๑๘ ลำ บ้านน๊อคดาวน์ (ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก) จำนวน ๒๗๖ หลัง ที่สำคัญ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสังเกตสัญญาณ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากสีดินเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเสียงดังจากบนภูเขา สัตว์ป่าแตกตื่น ให้รีบแจ้งเตือนชาวบ้าน พร้อมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที สุดท้ายนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป