ซิป้า ผนึกกำลังองค์กรชั้นนำดันซอฟต์แวร์ไทยประกาศศักยภาพระดับชาติ พร้อมสร้างเวที Thailand Software Fair 2008 เป็นครั้งแรก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday October 8, 2008 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ซิป้า
ปัจจุบันเทคโนโลยีซอฟต์แวร์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในวงการธุรกิจ และการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทย ในภาคเศรษฐกิจในปี 2550 แล้วจะมีการใช้จ่ายด้านไอทีโดยรวมแล้วเป็นจำนวนถึง 204,535 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์จำนวน 68, 719 ล้านบาท และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คิดเป็น 57,178 ล้านบาท มูลค่า 28% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของด้านนี้ โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นี้มีการเติบโตของตลาดมีแนวโน้มที่จะสูงมากขึ้นทุกปี
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ SIPA ได้สร้างรากฐานและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ทำให้มั่นใจประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับสากล
ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการซิป้า กล่าวว่า "SIPA มีวิสัยทัศน์ในการสร้างศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยวิธีการหนึ่งคือการกระตุ้นและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ซื้อได้มีการจับคู่พันธมิตรธุรกิจ (Business Matching) เปิดโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้าซอฟต์แวร์สู่สาธารณะ
นอกจากนี้ SIPA ยังส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ที่ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน เน้นการเปิดรับบริษัทชั้นนำด้านไอทีและซอฟต์แวร์จากต่างประเทศต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้าถึงตลาดระดับโลกได้ โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา 5 ด้านด้วยกันคือ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ, การพัฒนากระบวนการผลิต, การพัฒนาตลาด สร้างการยอมรับในตลาดโลก, การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไอซีทีและซอฟต์แวร์ และการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย"
คุณวทันยา สุทธิเลิศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) เปิดเผยว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านซอฟต์แวร์ ในแต่ละปีมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์คุณภาพที่เข้าร่วมบ่มเพาะกับทางซอฟต์แวร์พาร์คเป็นจำนวนมาก และได้เห็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาขึ้นเป็นซอฟต์แวร์โซลูชั่นดีๆมากมาย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของซอฟต์แวร์ไทย แต่จุดหนึ่งที่อาจยังต้องร่วมกันส่งเสริมและผลักดันคือเรื่องของการทำการตลาด ของนักพัฒนาหรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ดังนั้นซอฟต์แวร์พาร์คจึงเตรียมแผนงานที่จะมุ่งเน้นการสร้างเสริมความแข็งแกร่งของระบบการตลาดในภูมิภาคมากขึ้น เน้นการสร้าง Community Linkage ระหว่างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเข้าไปเชื่อมโยงโอกาสและช่องทางการตลาดให้กับนักพัฒนาหรือองค์กรหลัก นอกจากนี้ยังได้วางเป้าหมายให้เกิดเป็น Software Industry Cluster ในเมืองที่มีศักยภาพและความพร้อมในด้านปัจจัยสนับสนุนการผลิตให้เกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดศูนย์รวมกิจกรรมด้านซอฟต์แวร์ และเป็นแหล่งกลางในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการการผลิตซอฟต์แวร์ เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการภาคเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ให้เป็น Industry Cluster และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายกับ Cluster ในภูมิภาคอื่นของประเทศ
คุณสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ ได้กล่าวสรุปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยว่า
"จากภาพรวมของกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ได้ดำเนินการผ่านมาแล้วนั้น ตามนโยบายของSIPA ซึ่งตัวเลขของมูลค่าการตลาดบริการด้านไอทีในประเทศไทยนั้น มีมูลค่าการตลาดมากขึ้นทุกปี โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์มากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการตลาดทั้งหมดประมาณ 148,000 ล้านบาท และส่วนตลาดด้านซอฟต์แวร์ใน ปี 2549 - 2550 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่จำหน่ายภายในประเทศมีรายได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2549 ร้อยละ 17 ซึ่งภายในปี 2551 นี้คาดว่าตัวเลขยอดขายซอฟต์แวร์ภายในประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14,700 ล้านบาท
การเติบโตและมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงตลาดบริการด้านไอทีในประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ มีความต้องการในด้านไอทีเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ยังป็นเรื่องของเวทีการตลาดที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดในประเทศ เนื่องจากขาดข้อมูลเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไทยที่มีคุณภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ทางสมาคม ATSI จึงมีแผนงานโครงการที่สำคัญหลายโครงการขึ้นมาเพื่อที่จะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องดังกล่าว โดยวิธีการหนึ่งคือ ร่วมมือกับภาครัฐที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมซอฟต์แวร์ไทยอย่างเช่น SIPA และซอฟต์แวร์พาร์ค รวมทั้งพันธมิตรภาคเอกชนอย่างเช่น ไมโครซอฟต์ และ ไอบีเอ็ม เป็นต้น ร่วมกันจัดงาน Thailand Software Fair 2008 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายนนี้ ณ สยามพารากอน ชั้น 5 ซึ่งจะมีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั้งไทยและเทศเข้าร่วมในงานนี้อย่างคับคั่ง"
คุณศิริพร พัชรวัฒน์ Developer and Platform Strategy Director บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายในการสร้างและส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมาก ในฐานะที่เป็นบริษัท Solution provider หรือผู้ให้บริการระบบหรือโซลูชั่นที่จะเข้าไปตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของลูกค้า และไม่หยุดนิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมูลค่าเพิ่มให้กับวงการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจสะดวกและง่ายขึ้น สามารถตอบโจทย์ในการทำธุรกิจได้ ไมโครซอฟท์จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นของคนไทย เพราะนวัตกรรมที่ได้รับการสร้างขึ้นมาจากท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจะสามารถเข้าถึงความต้องการและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศนั้นๆ ได้ดี หากนวัตกรรมที่พัฒนาเพื่อเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ หรือต่อยอดการใช้งานได้ในระดับนานาชาติ ก็จะทำให้นวัตกรรมนั้นๆ มีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งยังรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
ซึ่งไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญในการผลักดันเยาวชนของไทย ให้ผ่านการแข่งขัน Imagine Cup ในแต่ละปี พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นตามโจทย์ที่กำหนดให้ นอกจากนี้ยังมีการอบรมการใช้เครื่องมือในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพื่อให้นำเทคนิคที่ได้ไปใช้พัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เยาวชนคิดค้นขึ้นเอง และการผลักดันให้เยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากประเทศไทยมีโอกาสนำนวัตกรรมไปแสดงและเเข่งขันในระดับนานาชาติอีกด้วย
การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมถือเป็นหนึ่งในสามนโยบายหลักของบริษัทฯ ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในสังคม และระบบเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และสร้างความมั่นใจให้กับผู้พัฒนานวัตกรรมว่า นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ไร้ค่า แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจของเขาได้"
"ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สวทช. สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต ก่อตั้ง Microsoft Innovation Center ขึ้นในประเทศไทย โดยมองว่า Microsoft Innovation Center จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เนื่องจาก Microsoft Innovation Center จะมีบทบาทในการเป็น market place เป็น networking center เป็น hands on lab เป็น job matching center และเป็นที่ทำ proof of concept center ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักลงทุน บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ นักพัฒนาทั้งหลายให้สามารถเข้ามาแบ่งปัน ทำงานร่วมกัน เสริมสร้างศักยภาพให้แก่กันและกัน หรือมองหาการต่อยอดการลงทุนพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นของไทยได้ แม้แต่นักศึกษาที่ทำการศึกษาทางด้านการเขียนโปรแกรม หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็สามารถมาจะมาใช้ประโยชน์จาก Microsoft Innovation Center เพื่อการทดลองซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่เขาพัฒนาขึ้นจากที่นี่ได้เช่นกัน
นอกจากยังได้ขยายธุรกิจโซลูชั่นเพื่อการดูแลด้านสุขภาพขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่ประเทศไทยจะเป็นฐานในการพัฒนาโซลูชั่นด้านสุขภาพ หรือ Microsoft Health Care Solution นี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไอทีของประเทศไปสู่มาตรฐานระดับสากลทางด้านการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมนวัตกรรมไอทีใหม่ๆ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการสร้างงานและพัฒนาทักษะต่างๆ ในประเทศไทยได้อีกด้วย"
งาน Thailand Software Fair 2008 ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2551 ณ สยามพารากอน ชั้น 5 ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ องค์กรมหาชน (SIPA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เป็นต้น ซึ่งงานนี้จะเป็นเวทีแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยระดับชาติ เพื่อก่อให้เกิดการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ ระหว่างองค์กรที่มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ กับผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ และเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เข้ามาสู่ศูนย์กลาง และมีสถานที่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สู่ผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการจับคู่พันธมิตรธุรกิจ (Business Matching) มีโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้าซอฟต์แวร์สู่สาธารณชนทั้งผู้ชมชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการจัดงานเพื่อนำเสนอขายสินค้าแบบทั่วไป แต่ยังเป็นการรวบรวมเอาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ และไอซีที มาถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบข้อมูลผ่านการอมรมสัมมนา เพื่อให้เกิดการตกผลึกความรู้ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยสามารถติดตามรายละเอียดของงานได้ทางเว็บไซต์ www.thailandsoftwarefair.com"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณรสจรินทร์ พ่วงแพร
โทร. 0-2541-4115 ต่อ 118, โทรสาร 0-2541-4838
โทรศัพท์มือถือ 08-6328-9339, อีเมล์ tsf@tagc.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ