กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของหุ้นกู้ค้ำประกันภายใต้ Medium-Term Note Programmes ซึ่งมียอดคงเหลือ 500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนตุลาคม 2552 ที่ออกโดยบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (ไพรมัส) เป็น ‘B-(tha)’ (B ลบ (tha)) จาก ‘BB-(tha)’ (BB minus (tha)) แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ โดยการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของไพรมัสเป็นผลมาจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต (ฟอร์ด เครดิต) และบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (ฟอร์ด) ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็น ‘CCC’ จาก ‘B-’ (B minus) แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองยังคงเป็นลบ ไพรมัสเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของ ฟอร์ด เครดิต โดยฟอร์ด เครดิตยังเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของไพรมัส อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันที่ออกโดยไพรมัส มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเต็มจำนวนจาก ฟอร์ด เครดิต และอันดับเครดิตของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส
ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาว IDR ของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต เนื่องจากวิกฤติทางการเงินที่ขยายตัวจนส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ ความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอของตัวแทนจำหน่าย และความได้เปรียบในด้านเงินทุนของค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้เสริมเข้ากับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากผลของสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและการที่ผู้บริโภคหันไปใช้รถยนต์ประเภทประหยัดพลังงานมากขึ้น ยอดขายที่ลดลงจะทำให้กระแสเงินสดของฟอร์ดติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และจะมีกระแสเงินไหลออกมากต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552 ถึงแม้ว่าบริษัทจะแสดงความสามารถในการลดต้นทุนลงได้และสภาวะของราคาวัตถุดิบที่อ่อนตัวลง ฟิทช์ยังมองว่าถ้าปราศจากการระดมทุนเพิ่มและการขายสินทรัพย์ออก ฟอร์ดจะต้องเผชิญกับภาวะที่เงินสดที่ใช้สำหรับการดำเนินงานลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
ฟอร์ดมีเงินสดในมือ ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2551 ที่ระดับ 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากไม่มีการระดมทุนเพิ่ม ฟอร์ดจะต้องเผชิญกับภาวะที่มีเงินสดที่ใช้สำหรับการดำเนินงานนี้ลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 1.0-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 18 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องของฟอร์ดน่าจะมาจากเงินกู้ที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้โดยมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน การเจรจาเพื่อโครงสร้างหนี้สินในส่วนของกองทุนเพื่อสวัสดิภาพของพนักงานตามโครงการ VEBA (Voluntary Employee Beneficiary Association) และบางส่วนมาจากการเพิ่มทุนจากภายนอกและการขายสินทรัพย์ออกไป ฟิทช์คาดว่าฟอร์ดน่าจะได้รับประโยชน์จากเงินกู้ที่มีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน ถึงแม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนในส่วนของ เวลา จำนวน โครงสร้าง และอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าว
ถึงแม้สถานะทางการเงินของไพรมัสจะอยู่ในระดับที่เพียงพอ แต่บริษัทยังคงต้องพึ่งพา ฟอร์ด เครดิต ในส่วนความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนและการดำเนินงาน แนวโน้มอันดับเครดิตของฟอร์ด และฟอร์ด เครดิต ซึ่งยังคงเป็นลบ บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันของไพรมัสในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแนวโน้มอันดับเครดิตจะบ่งชี้ถึงทิศทางการปรับอันดับเครดิตที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1 — 2 ปีข้างหน้า โดยการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759
Christopher Wolfe, New York +1 212 908 0771