กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาทของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) ที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A” และยืนยันอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าเป็นผลมาจากการที่หุ้นกู้ดังกล่าวมีสิทธิในการได้รับชำระหนี้ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีประกัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทสะท้อนปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) ซึ่งทำให้เกิดโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันทั่วกรุงเทพฯ และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ การจัดอันดับเครดิตยังคำนึงถึงโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันของบริษัทซึ่งมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทตลอดอายุของตราสารด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเพื่อบรรเทาความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการและดูแลรักษาสภาพพื้นผิวการจราจรบนทางด่วนให้อยู่ในระดับที่ดีเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการใหม่ๆ นอกจากนี้ หากบริษัทต้องการจะลงทุนในกิจการใหม่ๆ ในอนาคต บริษัทจะต้องรักษาสถานะทางการเงินไม่ให้ปรับตัวลดลงจากระดับในปัจจุบัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (โครงการทางพิเศษศรีรัช) และส่วนต่อขยายต่างๆ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะ 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ซึ่งมีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BTO ระยะ 30 ปีจาก กทพ. ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ในสัดส่วน 53.33% ของทุนจดทะเบียนของ NECL
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัททางด่วนกรุงเทพได้แก่ปริมาณการจราจรบนทางด่วน อัตราค่าผ่านทาง และต้นทุนในการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่เริ่มปรับลดลงในปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของการเปิดใช้ถนนวงแหวนใต้โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณรถยนต์บนทางด่วนลดลง 5.47% อยู่ที่ 928,741 คันต่อวัน เปรียบเทียบกับปริมาณเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 982,490 คันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับลดลงของปริมาณจราจรเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ทั้งนี้ การลดลงของปริมาณจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนในส่วน D น่าจะชะลอลงเมื่อถนนวงแหวนใต้เริ่มเก็บค่าผ่านทางซึ่งน่าจะเริ่มในช่วงต้นปี 2552 ในขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มอ่อนตัวลงจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาลได้ลดการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำมันในอัตรา 3 บาท/ลิตรเป็นเวลา 6 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550
ทำให้ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเริ่มฟื้นตัวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในระยะปานกลางทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติจะยังคงส่งผลต่อความต้องการใช้ทางด่วน
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัทอยู่ที่ 3,395 ล้านบาท ลดลง 182 ล้านบาท หรือ 5.10% จากในเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 83.82% เทียบกับ 86.32% ในปี 2550 ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองค่าทดแทนการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากมีการปรับค่าผ่านทางในเดือนกันยายน 2551 ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดจะปรับลดลงจากปริมาณการจราจรที่ลดลง แต่โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสด (Cash Flow Protection) ของบริษัทกลับดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากการชำระหนี้เงินกู้และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ณ เดือนสิงหาคม 2551 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 24,922 ล้านบาท ลดลง 1,678 ล้านบาท จาก 26,600 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 ดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ที่ 632 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 จาก 693 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาระหนี้ลดลงและต้นทุนการเงินที่ลดลงจากการออกหุ้นกู้จำนวน 7,500 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2550 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายแข็งแกร่งขึ้นจาก 62.39% และ 3.98 เท่าในปี 2550 มาอยู่ที่ 60.15% และ 4.58 เท่าในเดือนมิถุนายน 2551 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 7.59% (ตัวเลขครึ่งปี) เปรียบเทียบกับ 15.48% ของปี 2550 โดยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เมื่ออัตราส่วนดังกล่าวสะท้อนการปรับเพิ่มขึ้นของค่าผ่านทาง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัททางด่วนกรุงเทพจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่สภาพคล่องของบริษัทก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจากการมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่คงตัว การมีภาระทางการเงินที่คาดการณ์ได้ และการสนับสนุนที่ดีจากสถาบันการเงินหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นไป บริษัทจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านดอกเบี้ยเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้บางส่วนจะเปลี่ยนเป็นอัตราลอยตัว โดยปรับมาอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) -2% ทั้งนี้ การออกตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่จะช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยได้บางส่วน
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BECL108A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,905 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ A-BECL128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,895 ล้านบาท ไถ่ถอนปี คงเดิมที่ A-BECL148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี คงเดิมที่ A-หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A-แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable