คต. แจงการนำเข้า - ส่งออกเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ภายใต้ Kimberley Process Certification (KPCS)

ข่าวทั่วไป Thursday October 9, 2008 09:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกภายใต้กรอบความตกลง Kimberley Process Certification Scheme (KPCS) ตามมติสมัชชาสหประชาชาติ และได้ดำเนินการตามกรอบความตกลง ฯ เพื่อป้องกันการลักลอบค้าเพชรดิบที่ผิดกฎหมายและนำเงินไปซื้ออาวุธเพื่อต่อสู้กัน โดยออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน พ.ศ. 2546 กำหนดให้เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 7102.10,7102.21 และ 7102.31 จะต้องมีหนังสือรับรอง KPC จากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อนำไปแสดงประกอบพิธีการส่งออกต่อกรมศุลกากร ส่วนการนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศและจะต้องนำเข้าเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนจากประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความตกลง KPCS เท่านั้น รวมทั้งต้องมีหนังสือรับรอง KPC ซึ่งออกโดยประเทศสมาชิก KPCS เพื่อแสดงประกอบพิธีการนำเข้าต่อกรมศุลกากร โดยกรมฯ ได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเผยแพร่ข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้นำเข้า — ส่งออกต้องปฎิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยเคร่งครัด
จากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ เมื่อปี 2550 คณะกรรมการ KPCS ที่ได้มา Review Visit ประเทศไทย ได้ให้การรับรองการดำเนินการของประเทศไทย ว่ามีแนวทางการควบคุมนำเข้า — ส่งออกเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามกรอบความตกลง KPCS โดยเฉพาะระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) ทำให้ไทยได้รับการยอมรับในการเป็นสมาชิกฯ ซึ่งทำให้สามารถค้าเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน KPCS มีการควบคุมการลักลอบค้าเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไนมากขึ้น ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ มีการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่น
- วางระบบการจัดเก็บหนังสือรับรอง KPC ให้เป็นระบบมีการควบคุมอย่างรัดกุมมากขึ้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำไปปลอมแปลงหนังสือรับรอง
- จัดทำหนังสือรับรอง KPC ที่มี Confirmation Slip ส่งให้ประเทศคู่ค้าเก็บรักษา เพื่อการตรวจสอบ ในขณะเดียวกันก็แจ้งให้ประเทศคู่ค้าส่งให้ไทยเช่นกัน
- ปรับหนังสือรับรองให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 60 วัน (เดิมกำหนดไว้ 90 วัน) เพื่อป้องกันการนำไปปลอมแปลง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2552 คณะกรรมการ KPCS จะมาทำ Review Visit ในไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการจะต้องให้ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้การ Review Visit ประเทศไทยในรอบต่อไปเป็นไปด้วยดี โดยแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งข้อมูลการนำเข้า -ส่งออกให้กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง (Focal Point) ของประเทศไทย เพื่อดำเนินการแจ้งต่อ KPCS เพื่อรักษาความเป็นสมาชิกและปฎิบัติตามกรอบความตกลง KPCS ซึ่งจะทำให้การค้าเพชรของไทยเป็นไปตามกรอบความตกลงฯ และไม่เกิดปัญหาอุปสรรค ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการค้าสินค้าทั่วไป โทร. 02 5474803 หรือสายด่วน 1385 และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ