รายได้รัฐบาลตลอดปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551)

ข่าวทั่วไป Wednesday October 8, 2008 17:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้แถลงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกันยายน 2551 ซึ่งจัดเก็บได้ 126,232 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 31,830 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายได้รัฐบาลสุทธิตลอดปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,547,220 ล้านบาท บรรลุผลเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามเอกสารงบประมาณ (1,495,000 ล้านบาท) จำนวน 52,220 ล้านบาท และสูงกว่าปีงบประมาณที่แล้ว 102,758 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้
1. เดือนกันยายน 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 126,232 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 31,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.3) สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมรอบครึ่งปีบัญชี 2551 ที่เหลื่อมมาจากเดือนสิงหาคม 2551 ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในเดือนนี้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 33,568 และ 5,960 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้ายังจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการอย่างต่อเนื่อง ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน
2. ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,547,220 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,220 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 และสูงกว่าปีงบประมาณที่แล้วจำนวน 102,758 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 และหากปีงบประมาณที่แล้วไม่รวมรายได้พิเศษจำนวน 48,848 ล้านบาท (จากการยุบเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน 36,951 ล้านบาท และส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร 11,897 ล้านบาท) จะสูงกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 10.9 ทั้งนี้การจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าประมาณการดังกล่าวเป็นผลจากการเก็บภาษีของกรมสรรพากร และกรมศุลกากร ตลอดจนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากรจัดเก็บได้รวม 1,276,080 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 67,280 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.6 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 14.0) โดยภาษีจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 62,750 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19.8) เนื่องจากผลประกอบการของนิติบุคคล โดยรวมในปี 2550 และครึ่งแรกของปี 2551 ที่เป็นฐานในการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัวในอัตราที่สูง
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 22,439 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 15.9) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.1 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าทั้ง ในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินบาท (ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.0 และ 20.8 ตามลำดับ รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศยังมีการขยายตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ
- ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 7,033 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 12.6 เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2550 — 2551
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ (มติคณะรัฐมนตรี 4 มีนาคม 2551)
2.2 กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้รวม 278,303 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 14,497 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 3.1 แต่ถ้าหักรายได้จากภาษีกิจการโทรคมนาคมของปีที่แล้วออก จะต่ำกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 0.7) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ และภาษีเบียร์
- ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 12,210 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล (6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน) เพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสาเหตุหลัก
- ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,580 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 เนื่องจาก ในปีงบประมาณ 2550 มีการชำระภาษีไว้สูง ซึ่งเป็นผลจากมีข่าวการปรับขึ้นอัตราภาษียาสูบเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีการกักตุนยาสูบ (ได้มีการปรับขึ้นอัตราภาษียาสูบปลายเดือนสิงหาคม 2550)
- ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เนื่องจากการบริโภคขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้
ส่วนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ถึงแม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะปรับอัตราภาษีรถยนต์นั่งทุกประเภทที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (E 20) ลดลง ร้อยละ 5 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551) และทำให้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์หายไปส่วนหนึ่ง แต่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์โดยรวมยังสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ร้อยละ 1.4 และสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 3.5
2.3 กรมศุลกากรจัดเก็บได้รวม 99,602 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 11,802 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.9) เป็นผลจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่า ประมาณการ 10,944 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 เนื่องมาจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 30.0 ในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และร้อยละ 20.8 ในรูปเงินบาท (ข้อมูล 11 เดือน : ต.ค. 50 — ส.ค. 51) ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ว่ามูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. และเงินบาทจะขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 7.0 ตามลำดับ
2.4 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 101,430 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2,780 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 17.8) เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำส่งรายได้ก่อนกำหนดประมาณ 8,800 ล้านบาท (กำหนดส่งเดือนตุลาคม 2551) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด ได้แก่ บริษัท ปตท.ฯ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
2.5 หน่วยงานอื่นนำส่งรายได้ 84,203 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ (ต่ำกว่าประมาณการเพียง 247 ล้านบาท) แต่ต่ำกว่าปีที่แล้ว 36,393 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.2 เนื่องจากปีที่แล้วได้รับรายได้พิเศษ 48,848 ล้านบาท (จากการยุบเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนและส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล (Premium) จำนวน 36,591 และ 11,897 ล้านบาท ตามลำดับ) ส่วนกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,332 ล้านบาท เนื่องจากได้รับรายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของ ค่าเช่าท่อก๊าซและที่ดินจากบริษัท ปตทฯ
3. ในปีนี้ได้มีการจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 66,450 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,450 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 และสูงกว่าปีที่แล้ว 8,858 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าประมาณการและสูงกว่าปีที่แล้ว
4. สรุป
การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2551 บรรลุผลเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจัดเก็บได้สุทธิ 1,547,220 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,220 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยที่สำคัญ คือ ประการแรก การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จนถึงในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2551 ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัวในอัตราสูง ประการที่สอง มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรขาเข้าจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ประการที่สาม การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้การจัดเก็บภาษีปิโตรเลียมและค่าภาคหลวงปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3728 และ 3545

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ