กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย มีพื้นที่ประสบภัยรวม ๓๑ จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๒๙ จังหวัด แต่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร และขอนแก่น ระดับน้ำในแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดลพบุรี ได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคมแล้ว นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึง สถานการณ์อุทกภัยว่า มีพื้นที่ประสบภัยรวม ๓๑ จังหวัด ๒๔๖ อำเภอ ๑,๕๖๖ ตำบล ๑๒,๐๙๒ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๒๖ ราย สูญหาย ๑ คน ราษฎรเดือดร้อน ๔๕๔,๓๐๔ ครัวเรือน ๑,๕๙๗,๓๗๑ คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๘ หลัง เสียหายบางส่วน ๒,๗๐๔ หลัง สะพาน ๙๘ แห่ง ถนน ๓,๔๐๔ สาย พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ ๕๔๗,๑๒๑ ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น ๕๕๗,๐๗๒,๖๐๙ บาท ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ๒๙ จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ตาก พะเยา ลำปาง นครนายก เลย สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี พิจิตร ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน ๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และขอนแก่น โดย พิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มการเกษตรในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก ๑ ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านกร่าง และอำเภอบางระกำ ๖ ตำบล ได้แก่ ตำบลชุมแสงสงคราม ท่านางงาม บางระกำ หนองกุลา กุยม่วง และนิคมพัฒนา แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยจะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๒ — ๓ วัน แต่จะยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรบางแห่ง ขอนแก่น น้ำจากแม่น้ำชียังคงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนหันและพระลับ และอำเภอชนบท ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลศรีบุญเรืองและชนบท ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๒๐ — ๐.๔๐ เมตร แนวโน้มสถานการณ์หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๑ สัปดาห์นี้ ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลพบุรีได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคมแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑ ปทุมธานี เขต ๒ สุพรรณบุรี เขต ๓ ปราจีนบุรี เขต ๕ นครราชสีมา เขต ๖ ขอนแก่น เขต ๗ สกลนคร เขต ๘ กำแพงเพชร เขต ๙ พิษณุโลก และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ โดยสนับสนุนเรือท้องแบนจำนวน ๑๒๘ ลำ เพื่อออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน ๑๑ เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย พร้อมทั้งได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภคจำนวน ๑๓,๒๕๐ ถุง ไปมอบให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดรถผลิตน้ำดื่มสะอาด จำนวน ๖ คัน ออกให้บริการน้ำดื่มเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนติดตั้งบ้านน็อคดาวน์ (มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก) จำนวน ๑๐ หลัง ให้ผู้ประสบภัยได้พักอาศัยชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และเพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จากภาวะฝนตกหนักในภาคใต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง พร้อมประสานงานกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลให้พร้อม เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันเหตุการณ์ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เบอร์โทรศัพท์ : 02 2432200