พณ. ออกประกาศกำหนดให้ภาชนะเซรามิกและภาชนะโลหะเคลือบที่ใช้บรรจุอาหาร เป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ข่าวทั่วไป Thursday October 9, 2008 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์(พณ.) ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ภาชนะเซรามิกและภาชนะโลหะเคลือบที่ใช้บรรจุอาหาร เป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันอันตรายแก่สาธารณชนจากสารตะกั่วและสารแคดเมียม ดังนี้
1. ภาชนะเซรามิกและภาชนะโลหะเคลือบที่ใช้บรรจุอาหารที่มีปริมาณสารตะกั่วหรือสารแคดเมียมละลายออกมาในปริมาณ ดังต่อไปนี้ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
(1) ภาชนะแบบแบนที่มีปริมาณสารตะกั่วละลายออกมาเกินกว่า 7 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีสารแคดเมียมละลายออกมาเกินกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร
(2) ภาชนะแบบลึกขนาดเล็กที่มีปริมาณสารตะกั่วละลายออกมาเกินกว่า 5.0 มิลลิกรัม ต่อลิตร หรือมีสารแคดเมียมละลายออกมาเกินกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
(3) ภาชนะแบบลึกขนาดใหญ่ที่มีปริมาณสารตะกั่วละลายออกมาเกินกว่า 2.5 มิลลิกรัม ต่อลิตร หรือมีสารแคดเมียมละลายออกมาเกินกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร
(4) ภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกที่มีปริมาณสารตะกั่วละลายออกมาเกินกว่า 2.5 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีสารแคดเมียมละลายออกมาเกินกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่อลิตร
(5) ภาชนะหุงต้มที่มีปริมาณสารตะกั่วละลายออกมาเกินกว่า ๕.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีสารแคดเมียมละลายออกมาเกินกว่า ๐.๕ มิลลิกรัมต่อลิตร
2. ภาชนะเซรามิกและภาชนะโลหะเคลือบที่ใช้บรรจุอาหารที่มีปริมาณสารตะกั่วหรือสารแคดเมียมละลายออกมาไม่เกินที่กำหนดในข้อ 1 ทุกรุ่นสินค้าหรือทุกชุดสินค้า เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ที่ออกให้โดยหน่วยงานของรัฐของประเทศผู้ผลิต หรือออกให้โดยหน่วยงานหรือสถาบันที่หน่วยงานของรัฐของประเทศผู้ผลิตให้การรับรอง (Competent Authority: CA) แสดงต่อกรมศุลกากร ทุกครั้งที่มีการนำเข้า โดยหนังสือรับรองดังกล่าวจะต้องระบุประเทศผู้ผลิตสินค้าและมีข้อความที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณสารตะกั่วและสารแคดเมียมที่ละลายออกมาจากภาชนะดังกล่าวของแต่ละรุ่นสินค้าหรือชุดสินค้า
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้นำเข้าไม่มีหนังสือรับรองสุขอนามัยตามข้อ 2 มาแสดง กรมศุลกากรจะระงับการตรวจปล่อยสินค้าไว้ก่อน แล้วสุ่มตัวอย่างทุกรุ่นสินค้าหรือชุดสินค้านำส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือหน่วยงานหรือสถาบันที่หน่วยงานของรัฐให้การรับรอง ดำเนินการวิเคราะห์และนำส่งผลการวิเคราะห์ให้ กรมศุลกากรเพื่อดำเนินการต่อไป โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือ Website : www.dft.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ