ผู้สูงอายุในระบบประกันสังคมและทางออกของกองทุนชราภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 13, 2006 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สปส.
อีก 6 ปีข้างหน้า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ของประชากร และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น13.7 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนต่อประชากรรวมจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 20 อันเป็นอัตราการเพิ่มที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2549 จำนวนผู้สูงอายุมี 6,846,319 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 152,839 คน และในปี 2550 ที่กำลังจะมาถึงนี้คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 7,040,657 คน
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา ต่างๆตามมา อาทิ ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะประชากรวัยแรงงานไม่ขยายตัว และต้องเพิ่มภาระการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับผู้กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต หลายคนเตรียมตัวออมเงินไว้ ด้วยการซื้อกรมธรรม์ หรือเลือกลงทุนกับกองทุนรวม ข้าราชการเองก็มี กบข.เป็นสวัสดิการในยามชรา แต่สำหรับคนทำงานทั่วไป ที่ไม่ได้เตรียมตัวออมเงินไว้ใช้ในอนาคต ใครก็ตามที่เป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 5 %ของรายได้ 3 %คือเงินออม และในส่วนของนายจ้างก็ออกสมทบให้กับลูกจ้างอีก 3 % เพื่อการออม
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “เบี้ยชราภาพนั้นเริ่มเก็บมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ ผู้ประกันตน ได้ออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกันตนไม่มีรายได้ ในปี พ.ศ.2557 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จะเป็นปีแรกที่ผู้สูงอายุกว่า 6,278 ราย จะได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพ โดยผู้สูงอายุในอนาคตกลุ่มนี้เป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน”
“เงินสมทบที่ผู้ประกันตนถูกหักจากเงินเดือนแต่ละเดือน 5 % นั้น 3 % คือเบี้ยชราภาพ เช่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ฯ 750 บาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยชราภาพ 450 บาท เงินจำนวนนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เงินบำเหน็จ (เงินก้อน) เงินบำนาญ(ได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ”
“ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบน้อยกว่า 15 ปี (180 เดือน) จะได้รับเงินเป็น “บำเหน็จชราภาพ” โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เฉพาะในส่วนที่ตัวเองส่งเท่านั้น แต่กรณีส่งเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพส่วนที่ตัวเองส่งเข้ามา บวกกับส่วนของนายจ้างที่จ่ายสมทบอีกเดือนละ 3 % และดอกเบี้ยที่สำนักงานประกันสังคมได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนั้นๆ แล้วประกาศให้ทราบ และหากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี จึงจะได้รับเป็นเงิน “บำนาญ”
ในส่วนของเงินบำนาญนั้นปัจจุบันยังไม่มีใครได้รับเพราะผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินบำนาญ กรณีชราภาพมีหลักเกณฑ์ในการรับเงินบำนาญคือ จะต้องจ่ายเงินสมทบมาครบ 15 ปี มีอายุ 55 ปี และต้องเกษียณอายุงาน หากยังทำงานอยู่ก็ยังไม่มีสิทธิรับเงินบำนาญและยังต้องถูกหักเงินสมทบโดยในแต่ละปีจะได้รับสิทธิเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ ผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 15 % ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย และถ้าส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ 1 % ในทุกๆ 1 ปี ซึ่งในขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับเพิ่มเงินบำนาญ จากอัตรา 15 %เป็น 20% ของค่าจ้าง และเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพจาก 1 % เป็น 1.5%
“หากคิดในอัตราที่ปรับเพิ่มแล้วผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 20 % บวกกับอีก ร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาจ่ายเพิ่ม 1 ปี เช่น ส่งเงินสมทบ 30 ปี ได้ 42.5 % ของ 15,000 บาท เท่ากับ 6,375 บาท ต่อเดือน หากผู้ประกันตนมีอายุยืนเท่ากับหญิงไทยโดยเฉลี่ย 75 ปี ก็จะได้รับบำนาญเป็นเวลา 20 ปี โดยที่จ่ายเงินสะสมกรณีชราภาพเพียง 162,000 บาท แต่จะได้รับเงินบำนาญซึ่งรวมดอกเบี้ยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,530,000 บาท จะเห็นว่าเงินที่สะสมไว้ได้งอกเงยถึง 1,368,000 บาท”
หลายคนอาจมองว่า กองทุนชราภาพเป็นเงินจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเฉพาะบำเหน็จชราภาพ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม — สิงหาคม 2549 มีผู้รับบำเหน็จชราภาพ จำนวน 46,387 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 798.33 ล้านบาท สำหรับบำนาญชราภาพนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน มีอายุ 55 ปีและเกษียณอายุงาน ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มจัดเก็บเงินสมทบกรณีชราภาพเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ดังนั้น ผู้ประกันตนจะมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ผลการประมาณการสถานะกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพด้วย ILO Pension Model พบว่า ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่สำนักงานประกันสังคมจะเริ่มจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ จะมีผู้มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ จำนวน 6,278 คน และมีผู้มีสิทธิรับบำเหน็จชราภาพ จำนวน 150,396 คน โดยจะมีจำนวนผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 30 — 40 ปี หลังจากนั้น คือเป็น 113,268 คน 1,086,928 คน 3,127,425 คน และ 4,483,746 คน ในปี 2561, ปี 2571, ปี 2581 และปี 2590 ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนผู้รับบำเหน็จมีแนวโน้มคงตัวและค่อยๆ ลดลงคือมีจำนวน 140,879 คน, 162,316 คน, 159,543 คน และ 139,817 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ในภาพรวมจะมีผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 - 25 ปี หลังจากปี 2557 ก่อนที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้มีสิทธิจะลดลงและคงตัว โดยเป็น 254,147 คนในปี 2561 1,249,244 คน ในปี 2571 3,286,968 คนในปี 2581 และ 4,623,563 คนในปี 2590 ซึ่งในปี 2590 นี้เองจะเป็นปีที่เกิดวิกฤติต่อเสถียรภาพของกองทุนชราภาพ
ในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เริ่มจ่ายบำนาญชราภาพในปี พ.ศ. 2557 ตามที่กล่าวมานั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานประกันสังคมจะต้องเร่งหามาตรการหรือแนวทางต่างๆ ให้ทันการ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบที่สำนักงานประกันสังคมกำลังศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และความเป็นไปได้ ได้แก่ การขยายอายุเกษียณ ตามอายุเฉลี่ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การขยายเงื่อนไขระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารการลงทุน เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่สูงสุดเนื่องจากเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพเป็นเงินออมจำนวนมาก ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความอยู่รอดของกองทุน
ดังนั้น หากทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้องตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุและผลกระทบต่อเสถียรภาพกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพในอนาคต พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับมาตรการหรือแนวทางต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมแล้ว ก็จะทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่ต้องประสบกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ดังเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ