กบข.กระตุ้นทุกภาคส่วนส่งเสริมการออมเป็นภารกิจแรก รับมือไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ข่าวทั่วไป Friday October 10, 2008 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กบข.
กบข. ห่วงไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระตุ้นทุกภาคส่วนส่งเสริมการออมเป็นภารกิจแรก สร้างหลักประกันวัยเกษียณ
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2545 ที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลจากสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงอนาคตของสังคมไทยที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้นกระทั่งในปี พ.ศ.2573 จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 66.6 และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 80.4 ในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยได้สำรวจพบว่า มีผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 3 ยังคงต้องทำงานหารายได้เพื่อการเลี้ยงชีพทั้งของตนเองและครอบครัว
สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การเตรียมพร้อมเพื่อการเข้าสู่วัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารแผนการเงินที่ควรต้องมีการจัดสรรเงินออมไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในวัยเกษียณ สำหรับ กบข.ในฐานะผู้ดูแลเงินออมระยะยาวเพื่อการเกษียณของสมาชิก ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงได้เพิ่มแนวทางการออมเงินเพื่อการเตรียมความพร้อมของสมาชิกเมื่อต้องก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยเกษียณ ด้วยบริการออมเพิ่มที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถสะสมเงินออมเพิ่มในอัตราสูงสุดได้ถึงร้อยละ 12 รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการให้ กบข.บริหารต่อหรือขอทยอยรับเงินคืนสำหรับสมาชิกที่ต้องการให้ กบข. ดูแลบริหารเงินออมของสมาชิกต่อไปภายหลังเกษียณอายุราชการเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ตาม การมีวินัยในเรื่องการออมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเราควรให้เป้าหมายกับภารกิจในการเก็บออมเป็นลำดับแรก เริ่มจากประมาณการจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต และแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีการจ่าย และบัญชีเงินลงทุน หลังจากนั้น ควรมีการวิเคราะห์และจัดทำแผนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง อีกทั้งสามารถปกป้องตัวเราและครอบครัวจากความไม่มั่นคงทางการเงิน โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าอนาคตต้องเริ่มต้นที่ปัจจุบันเท่านั้น
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 member@gpf.or.th / www.gpf.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ