กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--สกว.
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “พลังงานทางเลือกสำหรับภาคขนส่ง” เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิชาการแก่รัฐใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายพลังงานสำหรับภาคขนส่ง
ศ.ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ภาคขนส่งของไทยยังพึ่งพาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นหลักโดยเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซินถึง 90% ส่งผลทั้งด้านความมั่นคงของแหล่งพลังงานและผลต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานของประเทศก็ยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ภาครัฐจึงควรวางมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเร่งด่วน แม้ในระยะแรกนี้เราจะนำแก๊สธรรมชาติมาใช้ในภาคขนส่ง แต่เนื่องจากแก๊สธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าด้วย ดังนั้นรัฐต้องเร่งส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล
ศ.ดร. ปรีดากล่าวว่า เนื่องจากแก๊สโซฮอล์มีหลายประเภท ทั้ง E10, E20,และ E 25 ไบโอดีเซลมีทั้ง บี2 และบี5 นอกจากนี้ยังมีเครื่องยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้าเป็นทางเลือกอีก จึงควรมีการศึกษาและวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อน แล้วจึงกำหนดนโยบายพลังงานทางเลือกที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ อีกทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ อุตสาหกรรม และผู้ใช้รถด้วย แต่สำหรับแก๊สโซฮอล์นั้น รัฐควรยกเลิกนโยบาย E85
“E85 ไม่เหมาะสมและมีจุดอ่อนมาก ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นต่างก็ไม่เอา เพราะอัตราการให้พลังงาน (energy gain) น้อยมาก ไบโอดีเซลยังดีกว่า เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่า ในยุโรปซึ่งใช้มาตรฐานยูโรโฟร์จึงเลือกเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก” และว่า “สำหรับมาตรฐานยูโรโฟร์ (Euro IV) เน้น 2 ประเด็นหลักเท่านั้นคือ กินน้ำมันกี่ลิตรต่อ 100 กม. และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ซึ่งในการตัดสินนโยบายภาคขนส่งของประเทศไทย ก็น่าจะพิจารณาสองเรื่องนี้เป็นหลักเช่นกัน มิเช่นนั้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการเจรจาเรื่อง Greenhouse gas ในครั้งต่อไป ประเทศไทยจะถูกโจมตีหนักมากเรื่องอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อจำนวนประชากรและต่อรายได้ประชากร” ศ.ดร. ปรีดา กล่าว
ถ้าเทียบกับแก๊สโซฮอล์แล้ว ศ.ดร. ปรีดากล่าวว่า ไบโอดีเซลมีภาษีดีกว่า เพราะเครื่องยนต์ดีเซลเป็นตัวหลักในการขนส่งและบรรทุกสินค้า แต่ก็ต้องระวังว่าจะส่งเสริมได้มากน้อยเพียงใด “สำหรับ B2 ไม่มีปัญหา เพราะใช้น้ำมันปาล์มใช้แล้วมาผลิต แต่ B5 อาจมีปัญหา เพราะใช้น้ำมันปาล์มที่ใช้เป็นอาหาร ส่วนสบู่ดำถือว่ามีศักยภาพสูงสุดในการทำไบโอดีเซล เพราะไม่ใช่อาหาร” และว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งแกสโซฮอล์และไบโอดีเซลต่างก็เป็นเพียงพลังงานเสริม ไม่ใช่พลังงานหลัก อีก 20-30 ปีข้างหน้า เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน ก็จะถูกรถเครื่องยนต์ไฮบริด รถไฟฟ้า รวมทั้งเซลล์เชื้อเพลิงมาแทนที่
ศ.ดร. ปรีดากล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรลดภาษีทันทีเพื่อส่งเสริมให้มีการนำรถเครื่องยนต์ไฮบริดเข้ามา แทนที่จะเสียเวลากับ E85 “อุตสาหกรรมรถยนต์ของเราแสดงตัวเลขว่า รถที่ผลิตได้ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งส่งออก และการที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป มาเลือกประเทศไทยเป็นฐานส่งออก เพราะเขาได้ประโยชน์จาก FTA กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ดังนั้นต้องถามด้วยว่า E85 มีประเทศไหนใช้บ้างในภูมิภาคนี้ เพราะถ้าเราผลิตเครื่องยนต์ E85 แล้วภูมิภาคนี้ไม่เอา ผู้ผลิตรถยนต์เขาจะเอาไปขายใคร” ศ.ดร.ปรีดา กล่าว
สำหรับนโยบายระยะยาว ประธาน สกว. กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลส่งเสริมรถไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid car) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงน้อยลงและใช้ไฟฟ้าเสริม ขณะนี้มีผู้ผลิตของไทยทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุงอีกเล็กน้อย และเชื่อว่าจะดีขึ้นหากมีโรงงานประกอบแบตเตอรี่มาผลิตแบตเตอรี่ให้ โดยแบ็ตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่พัฒนาใหม่จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง และเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้นเกือบเท่าตัว แต่รัฐต้องคิดถึงเรื่องการกำจัดแบ็ตเตอรี่เก่าทิ้งด้วย
นอกจากนี้รัฐต้องปรับปรุงเรื่องการเก็บภาษีรถ โดยน่าจะพิจารณาเก็บภาษีตามการประหยัดพลังงานและการก่อมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ มากกว่าเก็บตามซีซีรถ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้รถที่มีประสิทธิภาพดีเข้ามาผลิตในไทย ซึ่งจะได้ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วย
“กระทรวงพลังงานไม่สามารถตัดสินนโยบายพลังงานทางเลือกสำหรับภาคขนส่งได้โดยลำพัง แต่ต้องปรึกษากระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตร แล้วจึงกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ อีกทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ อุตสาหกรรมและผู้ใช้รถด้วย” ประธาน สกว. สรุป
งานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ฉัตร์ทิพย์ โทร 0-2278-8298, chatthip@trf.or.th
ฉัตร์ทิพย์ ภูสกูล
เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
979/17-21 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์
ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400
โทร. (02) 278 - 8298, มือถือ (089) 499 - 8208
แฟ็กซ์ (02) 298 - 0454 อีเมล์ : chatthip@trf.or.th
เชิญสืบค้นผลงานวิจัยของ สกว. ได้ที่ http://elibrary.trf.or.th