TMC หนุนคลัสเตอร์ซอฟต์แวร์ทำมาตรฐาน CMMI หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 13, 2008 14:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--สวทช.
TMC เร่งผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจัดทำมาตรฐาน CMMI หวังพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเข้มแข็ง เชื่อเป็นมาตรฐานที่เหมาะกับการพัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์ เพราะเป็นที่รู้จักทั่วโลก คาดภายในปี 52 มีบริษัทซอฟต์แวร์ในประเทศไทยผ่านมาตรฐานนี้ไม่ต่ำกว่า 40 บริษัท
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีมูลค่าทางการตลาดสูงและมีบทบาทสำคัญต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แต่การจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่ดี และเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาอุตสาหกรรม จึงพยายามผลักดันทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยใช้ประโยชน์จาก “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้สัมภาษณ์ว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ TMC ให้การสนับสนุนโดยผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) ที่ร่วมมือกันจัดทำโครงการ SPI@ease ที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนไทยจัดทำมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่คิดค้นขึ้นจากสถาบันด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Model Integration ) มหาวิทยาลัย Carnegic Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นมาตรฐานต้นแบบของวิธีการที่เหมาะสมกับการพัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก
“การผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จัดทำมาตรฐาน CMMI นี้นอกจากจะส่งดีให้กับองค์กรแล้ว ยังทำให้เกิดการสร้างธุรกิจให้คำปรึกษาสำหรับบริษัทที่ต้องการทำ CMMI (CMMI service provider)เพิ่มขึ้นด้วย โดยโครงการ SPI@ease จะร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์มีกระบวนการผลิตที่เป็นระบบมากขึ้น มีข้อกำหนดและระเบียบวิธีที่รัดกุมเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพเสมอต้นเสมอปลาย ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการผลิตได้อีกด้วย”
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านซอฟต์แวร์หันมาให้ความสนใจกับการทำมาตรฐาน CMMI มากขึ้น จึงคาดว่าภายในปีนี้จะมีบริษัทด้านซอฟต์แวร์ในประเทศไทยผ่านมาตรฐาน CMMI อีกไม่น้อยกว่า 25 ราย และในปี 2552 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 บริษัท โดยครั้งนี้มีบริษัทที่สามารถประสบผลสำเร็จผ่านมาตรฐาน CMMI ใน Level 2 ได้แก่ บริษัท วีแอลบิสซิเนสคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทจัดหาติดตั้งและออกแบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ บริษัท ซอฟต์สแควร์ 1999 จำกัด บริษัทที่ให้บริการออกแบบ วางแผนระบบโปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น โดยความสำเร็จของทั้งสองบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือและโอกาสให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยสามารถขยายตลาดการผลิตซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ศ. ดร.ชัชนาถ กล่าวว่า นอกจากนี้ TMC ยังมีการผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ประโยชน์ โดยการให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำผลงานวิจัยไปจดสิทธิบัตรเพื่อใช้ประโยชน์ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการจูงใจด้านภาษี การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ และการให้เช่าพื้นที่สำหรับบ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อทำให้เกิดผลงานวิจัยคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลก
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณธณาพร นุ่นมัน (เอ็ม), คุณสุธิดา อัญญะโพธิ์ (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166
อีเมล: prtmc@yahoo.com, pr4tmc@ymail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ