กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ก.พลังงาน
“วรรณรัตน์” เร่งเครื่องเข้าดูแลค่าการตลาดน้ำมันใกล้ชิด หวังปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าพลังงานทดแทนเป็น วาระแห่งชาติ เตรียมเสนอแผนพลังงานทดแทน 15 ปี เป็นแผนแม่บทแห่งชาติ ยันนโยบายเพิ่มการใช้ E85 และ NGV เน้นความชัดเจนด้านการเพิ่มความหลากหลายและทางเลือกของพลังงานให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น รองรับความผันผวนราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังเร่งสร้างนิสัยประหยัดพลังงานให้ประชาชนต่อเนื่อง ไม่ว่าราคาน้ำมันจะถูกหรือแพงก็ตาม รวมทั้งตั้งเป้าปรับแผน PDP เน้นกระจายความเสี่ยง และเดินหน้าศึกษาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคตบนความยอมรับของพี่น้องประชาชน รวมทั้งเน้นเรื่องความปลอดภัย งานความร่วมมือต่างประเทศ และบรรเทาภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวภายหลังการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในวันนี้ (13 ต.ค. 51) ว่า กระทรวงพลังงาน นับเป็นกระทรวงหนึ่งที่มีภารกิจในการดำเนินการบรรเทาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา “ซับไพร์ม” ให้แก่ประชาชน รวมทั้งผลักดันการลงทุน และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังประเทศไทย
ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการ ได้แก่ การเข้าไปดูแลเรื่องค่าการตลาด จากผู้ค้าน้ำมันอย่างใกล้ชิด หลังพบว่าปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันมีค่าการตลาดที่สูงผิดปกติ เพื่อทำให้เกิดโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมต่อประชาชน รวมทั้งจะได้เร่งผลักดันการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และเอ็นจีวี ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งจะได้กำหนดแผนดำเนินการที่มี Roadmap ชัดเจน โดยจะนำเสนอแผนแม่บทพลังงานทดแทนแห่งชาติ15 ปี เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และครม. เพื่ออนุมัติเป็นแผนแม่บทในการส่งเสริม และสนับสนุนพลังงานทดแทนทุกรูปแบบต่อไป
โดยกระทรวงพลังงาน จะได้ผลักดันเรื่องการใช้เอทานอล นโยบายการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E85 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(NGV) ทั้งด้านการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ NGV การขยายสถานีบริการให้ครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การบริหารจัดการลดปัญหา ก๊าซหมด คิวยาว และหาปั๊มยาก รวมทั้งการจัดระเบียบสถานีที่จัดให้เป็นการเฉพาะสำหรับ รถบ้าน รถแท็กซี่ และรถขนาดใหญ่ ตลอดจนการเร่งรัด 11 มาตรการประหยัดพลังงานเพื่อประชาชนให้เกิดผลโดยเร็ว และสร้างนิสัยการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชนต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันเป็นช่วงที่ทิศทางราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม
ด้านนโยบายในเรื่องของการบริหารจัดการปัญหาก๊าซหุงต้มป้องกันการขาดแคลน กระทรวงพลังงานจะได้ทำการศึกษาปรับเพิ่มสำรองก๊าซหุงต้ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมความมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาการนำเข้าก๊าซหุงต้ม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสำรองก๊าซหุงต้มเพียงร้อยละ 0.5 ของการใช้ในประเทศ หรือประมาณ 2 วัน โดยจะมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานไปศึกษาต่อไป รวมทั้งกำกับดูแลความปลอดภัยของการใช้ก๊าซทุกชนิดด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องของนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในเบื้องต้นจะมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยปรับลดระดับสำรองการผลิตไฟฟ้า ให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยจะมีการพิจารณาปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และยังคงรักษาสัดส่วนการผลิตของ กฟผ. มากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังผลิตรวมในประเทศ และส่งเสริมให้มีระบบผลิตในประเทศที่เป็น SPP และ VSPP จากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเร่งรัดทำความเข้าใจโครงการพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นสร้างความรู้แก่เยาวชนให้ทราบถึงประโยชน์และข้อจำกัดของพลังงานนิวเคลียร์
ในด้านต่างประเทศ จะส่งเสริมแหล่งลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อป้อนกลับมายังประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่ง M9 จากประเทศพม่า และในพื้นที่แถบตะวันออกกลาง ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น มีนโยบายสนับสนุนโครงการ CDM ให้เกิดผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันต่อปี
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวสรุปว่า การมอบหมายนโยบายให้แก่ข้าราชการ ตลอดจนการกำหนดนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงาน ในวันนี้ เน้นในเรื่องให้ประเทศไทย และคนไทยมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เป็นธรรม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเป็นการวางรากฐานให้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน และมั่นคง