กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม ๓๓ จังหวัด สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ๓๐ จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม เนื่องจากแม่น้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรบริเวณริมตลิ่ง คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๓-๕ วัน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า มีพื้นที่ประสบภัย รวม ๓๓ จังหวัด ๒๗๔ อำเภอ ๑,๗๖๐ ตำบล ๑๔,๒๓๘ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๒๖ ราย สูญหาย ๑ คน ราษฎรเดือดร้อน ๕๕๑,๔๖๘ ครัวเรือน ๒,๐๔๑,๑๙๐ คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๘ หลัง เสียหายบางส่วน ๔,๗๓๘ หลัง สะพาน ๑๑๕ แห่ง ถนน ๓,๘๐๕ สาย พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ ๖๑๗,๗๐๒ ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น ๕๑๖,๐๔๒,๐๐๙ บาท สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ๓๐ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ตาก พะเยา ลำปาง นครนายก เลย สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษแม่ฮ่องสอน สระแก้ว จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัด ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ในพื้นที่ ๗ อำเภอ ๑๔ ตำบล ๖๒ หมู่บ้าน โดย ขอนแก่น แม่น้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น (ตำบลดอนหัน และตำบลพระลับ) และอำเภอชนบท (ตำบลศรีบุญเรือง และตำบลชนบท) ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๒๐-๐.๔๐ เมตร แนวโน้มสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกในพื้นที่คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน ๓ -๕ วัน ร้อยเอ็ด แม่น้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรบริเวณริมตลิ่งในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอจังหาร (ตำบลผักแว่น ตำบลดงสิงห์ และตำบลดินดำ) และอำเภอเชียงขวัญ (ตำบลพลับพลา) ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๓๐ — ๐.๗๕ เมตร แนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำยังทรงตัว มหาสารคาม แม่น้ำชีได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรริมฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมหาสารคาม (ตำบลท่าตูม) อำเภอโกสุมพิสัย (ตำบลโพนงาม ตำบลยางท่าแจ้ง และตำบลหัวขวาง) อำเภอกันทรวิชัย (ตำบลเขวาใหม่ และตำบลมะค่า) ระดับน้ำสูงประมาณ ๐.๒๐ — ๐.๖๐ เมตร แนวโน้มสถานการณ์น้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสบภัย ออกสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภค จำนวน ๔๙,๕๕๐ ชุด รวมทั้งน้ำดื่ม จำนวน ๕๐,๐๐๐ ขวด ถังบรรจุน้ำ จำนวน ๑๓,๐๐๐ใบ ขวดบรรจุน้ำดื่ม (มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก) จำนวน ๔๐,๐๐๐ ชุด ไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ในพื้นที่ภาคใต้ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่
อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง และจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติ
สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป