เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2008 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ที่หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันราชานุกูล จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที (SCBF : ICT YOUTH CONNECT)” หวังสร้างเครือข่ายคนทำงานทุกระดับรวมทั้งเด็กและเยาวชน วางแผนการทำงานร่วมกั้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถ “สร้าง” และ “ใช้” สื่อบนโลกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ ในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที น่าจะมีได้หลายแบบตามความชอบและความถนัดของแต่ละคน โดยมีหลักคือ “ใช้ ไอซีที” ไม่ใช่ “ติด ไอซีที” หรือ “เป็นทาส ไอซีที” เราต้องเป็นผู้เอาไอซีที มาใช้ประโยชน์หรือเป็นนายไม่ใช่ตกเป็นทาสของไอซีที เด็กหัวใส...ต้องรู้จักใช้ประโยชน์ของไอซีทีแบบที่ให้ประโยชน์ต่อชีวิตในระยะยาว ไม่ใช่ได้ประโยชน์ระยะสั้นประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเกิดผลร้ายตามมาในระยะยาว คือได้แต่ความสนุก ความตื่นเต้น ความบันเทิง แต่ไม่เกิดการเรียนรู้ หรือเกิดการเรียนรู้แต่ก็เป็นเรื่องไม่สมควร ไม่ชักจูงเราไปในทางดี กลับชักนำชีวิตไปสู่ความเสี่ยมที่เรียกว่า อบายมุข เด็กหัวใสนอกจากรู้จักใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ไปสู่ชีวิตที่ดีของตนเองแล้ว ยังรู้จักใช้ไอซีทีในการทำความดีให้แก่สังคมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ใช้ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน ใช้ในการค้นหาความรู้ที่ชุมชนต้องการ เอามาทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนของตน ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กอื่น ๆ ในที่ห่างไกลกันแต่มีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน การทำความดีให้แก่สังคม สนุกในการทำความดีให้แก่ผู้อื่น ทำความดีแล้วเกิดความสุข ความภาคภูมิใจทำให้เด็ก “หัวใส” คือ สมองเปลี่ยนซึ่งในที่นี้คือเครือข่ายใยประสาทเปลี่ยน เป็นต้นทุนสำหรับชีวิตที่ดี สำหรับความสนุกสนานในการทำความดี ไอซีทีได้กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่กล่อมเกลา หรือสร้างเครือข่ายใยประสาทในสมองของเด็ก เด็กจะหัวใสหรือหัวขุ่นก็ขึ้นอยู่กับวิธีใช้ไอซีทีให้เป็น “สภาพแวดล้อมสีขาว” หรือเป็น “สภาพแวดล้อมสีดำ” แก่เด็ก ซึ่งขึ้นกับตัวเด็กเอง ครอบครัว โรงเรียน และการดำเนินการของสังคม “ไอซีทีทำให้หัวใสหรือหัวขุ่นก็ได้ อยู่ที่เราใช้ไอซีทีเพื่อสร้างประสบการณ์อะไรให้กับเด็ก หรือเด็กเลือกแบบไหน หรือพ่อแม่ปล่อยหรือชักจูงให้เด็กไปในทางหัวใสหรือหัวขุ่น ซึ่งไอซีทีถ้าออกแบบให้ดีก็ช่วยพัฒนาเด็กได้ วิธีการที่จะให้เด็กหัวใส คือการให้เขาได้ทำอะไรบางอย่างที่ เขารัก เขาชอบ และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ให้ความรู้สึกภาคภูมิใจเกิดขึ้นจากการทำอะไรเพื่อผู้อื่น” นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลมีภารกิจสำคัญคือการทำงานพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เขาได้สามารถพัฒนาตน พัฒนาความคิดและจิตใจที่จะเอื้อเฟื้อ มีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม เหมือนคำว่า “เด็กหัวใส” นั่นเอง มูลนิธิสยามกัมมาจลพยายามสนับสนุนให้เยาวชนได้ใช้พลังทำสิ่งที่อยากจะทำ และเป็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมของตนเอง ซึ่งการได้ทำจริงจะทำให้เกิดประสบการณ์ การเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงผลงานสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือพื้นที่ไอทีซึ่งน่าจะสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่กลับมีการใช้ประโยชน์น้อย เด็กเข้าถึงไอทีได้เร็วและมากกว่าพ่อแม่ แต่การใช้ของเด็กเป็นไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าการพัฒนาตนเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้การพัฒนาเด็กและเยาวชนคงเป็นไปในทาง “หัวขุ่น” มากกว่า “หัวใส” อย่างไรก็ตามก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะยังมีคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้ไอทีในทางสร้างสรรค์ ทำอะไรดี ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ เป็นชุมชนของคนที่จะช่วยกันพัฒนาพื้นที่ไอทีสีขาวที่จะทำให้เกิดเด็กหัวใสฯขึ้นในสังคมไทยการจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการรวมพลังกันเพื่อร่วมคิด ขับเคลื่อนพื้นที่สีขาวบนไอซีทีให้กระจายกว้างขวางขึ้น “จริงอยู่ที่เราไม่อาจเปลี่ยนพื้นที่เสียได้ในพริบตา แต่เราสามารถขยายพื้นที่สีขาวให้กระจายออกไป และเด็กสามารถเลือกใช้พื้นที่ไอทีเชิงบวกของตนได้ เด็กจะได้พัฒนาตนเอง ได้มากขึ้น รู้เท่าทันและจะไม่ถูกครอบด้วยเทคโนโลยีและการตลาด การรวมพลังเพื่อสร้างทางเลือกให้กับเยาวชนไทยครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรก และมูลนิธิสยามกัมมาจลยินดีสนับสนุนให้เกิดก้าวต่อ ๆ ไปที่จะเห็นยุทธศาสตร์หรือแนวทางของการทำงานสร้างสรรค์สื่อไอซีทีเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง” นางปิยาภรณ์ กล่าว ด้าน พญ..พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า “เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที” เกิดจากแนวคิดที่เชื่อว่า เด็กหัวใส ไม่ปฏิเสธการใช้ไอซีทีในชีวิต และมีเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีทีอยู่ในหลายพื้นที่ หลายรูปแบบ หลายวิธีการ คงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกว่าเด็กจะหัวใส ฉลาดใช้ไอซีทีได้อย่างไร มีแต่ประสบการณ์ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่จะกำหนดทางเดินไปข้างหน้า พญ.พรรณพิมล ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์หรือแผนระดับชาติ กับสิ่งที่เรียกว่าไอซีทีของคนทั้งประเทศ เป็น master plan มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าไอซีทีเป็นเรื่องวัฒนธรรมของชาติ ที่ทุกคนต้องผ่านการเรียนรู้และเข้าถึงให้ได้แม้แต่คนพิการ มีการเตรียมพร้อมเรื่องคน ให้เพิ่มการเรียนรู้ผ่านไอซีที รวมทั้งคนที่จะมาบริหารจัดการไอซีทีด้วย และที่น่าสนใจคือมีกฎกติกาในการใช้ไอซีที มีคณะกรรมการควบคุม และสิ่งหนึ่งที่เกาหลีวางระบบไว้คือทุกอย่างในไอซีที จะต้องไม่มีเรื่องของการพนัน เขาบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวไอซีที แต่อยู่ที่ว่าจะเตรียมสังคมอย่างไรกับเทรนด์ที่กำลังมาในเรื่องไอซีที ที่โน่นเขาใช้เวลา 3 ปีในการเตรียมโรงเรียนให้สามารถใช้ไอซีทีขั้นพื้นฐานได้ มีการอบรมครู 34,000 คน ที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ที่เรียกว่า school net ที่เข้าถึงเด็กได้ทุกคน และเหตุผลที่เขาทำคือเพื่อต้องการลดการติวเพื่อเตรียมสอบของเด็ก แต่ให้สามารถเรียนรู้ผ่านไอซีทีได้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันนี้ไอซีทีเป็นเรื่องธรรมดา ไอซีทีไม่ใช่แค่เรื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต แต่ผสานกับสิ่งอื่นมากมาย และตัวไอซีทีก็เป็นความรู้ ที่ประกอบด้วยความรู้หลายอย่าง และต้องการความรู้ที่จะมาจัดการความรู้บนไอซีที ต้องสร้างสมดุลของการใช้ไอซีที ต้องหาตัวอย่างสูตรสำเร็จของคนทำเกม คนทำเว็บไซต์ ต้นแบบเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที และอื่น ๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดูได้ ทั้งนี้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องย่อยซึ่งแบ่งเป็น ชุมชนคนทำเกม เว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้ พื้นที่เข้าถึงสื่อไอซีทีเชิงสร้างสรรค์ เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที และเครือข่ายผู้ใหญ่...ใส่ใจไอซีที ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญคือ เกิดเครือข่ายชุมชนของผู้ใหญ่และเด็กทำสื่อไอซีที เกิดต้นแบบของแนวทางในการทำงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดคนสร้างสรรค์สื่อไอซีทีเพื่อเด็ก เกิดต้นแบบของกระบวนการในการส่งเสริมให้เด็กทำสื่อ สื่อไอซีทีเพื่อสังคม เกิดตัวอย่างผลงานต้นแบบ สื่อไอซีทีที่เด็กทำ เกิดต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ในการบริโภคสื่อให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว เกิดห้องสมุดผลงานสื่อที่เด็กเป็นคนทำผ่านเว็บไซต์ และจะมีการสื่อสารชุดความรู้ที่ได้จากการทำงานไปยังสังคมผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ อาทิ ผ่านเว็บไซต์ www.scbfoundation.com และ www.okkid.net ของมูลนิธิสยามกัมมาจล และการนำเสนอชุดความรู้ผ่านบทความวิชาการในสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่สังคมต่อไป. สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2270-1350-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ