กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--CDSC
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มยุทธศาสตร์ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบนและ กลุ่ม 5 คลัสเตอร์เอกชน เร่งผลักดันแฟชั่นรูปแบบสินค้าหัตถกรรม “ล้านนาสไตล์”หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีตลาดโลก ภายในปี 2552 ด้วยการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC หวังเพิ่มยอดจำหน่ายอีก 35% ให้แก่สินค้า OTOP พร้อมจัดทำ LANNA STYLE BOOK ให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและนักออกแบบใช้เป็นแนวทางออกแบบสินค้า
นายณพงษ์ สงวนนภาพร ผู้จัดการ โครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม เปิดเผยถึงที่มาของโครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม (The Craft Design Service Center Project : CDSC) ว่า เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าของสินค้าหัตถกรรมใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากสภาวะการแข่งขันทางการตลาดในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านราคาและต้นทุนการผลิต อันเกิดจากการขยายตลาดของประเทศผู้ผลิตรายใหม่ โดยเฉพาะเวียดนาม และ จีน อีกทั้งสินค้าหัตถกรรมล้านนา ยังประสบปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้า นักออกแบบงานหัตถกรรมใน 8 จังหวัดภาคเหนือก็ยังขาดความรู้และความคิดสร้างสรรค์การนำอัตลักษณ์ล้านนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตสินค้าหัตถกรรม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญล้านนาศึกษาและการออกแบบสินค้าหัตถกรรม กลุ่มยุทธศาสตร์ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนและกลุ่ม 5 คลัสเตอร์เอกชน ซึ่งประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่และภาคเหนือ ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX) และ เครือข่ายผู้ผลิตสินค้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ภาคเหนือ จึงได้รวมตัวกันดำเนินโครงการเพื่อจัดตั้ง ศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC
ภารกิจหลักของโครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC คือ การศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูลในการออกแบบ และพัฒนาสินค้าหัตถกรรม เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบสินค้าหัตถกรรมโดยใช้เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนา สร้างความสามารถในการแข่งขันระดับเวทีโลก ภายในปี พ.ศ. 2552 และให้บริการประสานความร่วมมือ สู่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ภาพลักษณ์ของสินค้าหัตถกรรมไทย ควบคู่กับการดำเนินโครงการสร้างแนวโน้มแฟชั่นรูปแบบสินค้าหัตถกรรม “ล้านนาสไตล์” เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าหัตถกรรมล้านนาในอนาคต โดยมุ่งพัฒนาจากรากฐานต้นทุนทางวัฒนธรรมล้านนา เพื่อออกแบบสินค้าหัตถกรรม ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายขึ้น 35% มีจำนวนผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนสินค้าที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการดำเนินกิจกรรมภายใต้ โครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC จะมุ่งเน้นไปที่ การศึกษาภูมิปัญญาล้านนาในงานศิลปหัตถกรรมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมจิตวิญญาณล้านนาและต่อยอดภูมิปัญญาล้านนาของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามแนวทางล้านนาสไตล์การศึกษาและดูงานด้านบริการการออกแบบในต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์และการพัฒนา ในโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบหัตถกรรมนำร่อง โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้นแบบนำร่อง โครงการพัฒนาผู้ประกอบการและนักออกแบบอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์กลุ่มจังหวัดล้านนา โครงการประกวดสินค้าต้นแบบเฟอร์นิเจอร์ โครงการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิค และโครงการฝึกอบรมการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
นายณพงษ์ สงวนนภาพร ผู้จัดการ โครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า “ขณะนี้ โครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC ได้จัดทำหนังสือ และ ซีดีรอม ชื่อ LANNA STYLE BOOK เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ และประยุกต์ผลงานการออกแบบสินค้าหัตถกรรมในรูปแบบ “ล้านนาสไตล์” เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าของสินค้าหัตถกรรมใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งเนื้อหาภายในเล่มเป็นการรวบรวมและสะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะกายภาพทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศของล้านนา พร้อมด้วยงานศิลปะ หัตถกรรม ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา และโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนล้านนาอย่างแท้จริง”
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือและซีดีรอม LANNA STYLE BOOK ได้ที่ โครงการศูนย์บริการออกแบบสินค้าหัตถกรรม : CDSC ชั้น 3 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ +66 53 944 851 โทรสาร +66 53 211 692 E-mail : cdsc@ns.finearts.cmu.ac.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CDSC โทร 053 944 851
หรือ คุณภาวินี ชนะพลชัย โทร 0-2946-8470-2