ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้ “กรุงเทพมหานคร” ที่ AA+/Stable

ข่าวทั่วไป Thursday November 9, 2006 18:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ กรุงเทพมหานคร ที่ระดับ “AA+” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนสถานภาพของกรุงเทพมหานครในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีแหล่งรายได้จากภาษีอากรที่ค่อนข้างแน่นอนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง การบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพและเกินดุลมาโดยตลอด รวมทั้งฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากสภาพคล่องที่สูงและไม่มีภาระหนี้เงินกู้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอน โดยกรุงเทพมหานครมีโครงการลงทุนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และภาระทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐบาลกลาง รวมทั้งการที่กรุงเทพมหานครยังไม่มีกรอบวินัยในการบริหารหนี้ที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างนโยบายของรัฐบาลกลางกับการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดร. วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้ง กล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ Local Government ของประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมระดมทุนด้วยการออกพันธบัตร เพื่อนำเงินมาดำเนินโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ การจัดอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนให้แก่กรุงเทพมหานครในอนาคต และคาดว่าจะเป็นแบบอย่างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่แห่งอื่น นำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการระดมทุนอีกด้วย เพราะเป็นวิธีการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ติดข้อจำกัดของงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลกลาง
ดร. วรภัทร กล่าวถึงการพิจารณาอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครว่ามี 4 ประเด็นคือ ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการเติบโตของกรุงเทพฯ ความสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครกับรัฐบาลกลาง โครงสร้างองค์กรและระบบการบริหารราชการและงบประมาณ และสถานะทางการเงิน ซึ่งทริสเรทติ้งพิจารณาว่ากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีผลผลิตมวลรวมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หรือ 28.8% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ และได้รับการจัดสรรรายได้จากรัฐบาล จำนวนสูงถึงประมาณ 75% จากรายได้ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร และเนื่องจากกรุงเทพฯมีการขยายตัวตลอดเวลา รายได้ของกรุงเทพมหานครจึงค่อนข้างแน่นอนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลดทอน คือ ยังไม่มีกลไกที่ชัดเจนเรื่องการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องความสามารถในการจัดหารายได้เพิ่มเติม การจัดทำรายงานการเงินที่ล่าช้า และการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น อาจลดความแข็งแกร่งของฐานะการเงินลงบ้าง ส่วนสิ่งที่เป็นได้ทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน คือ ประเด็นทางการเมืองซึ่งขึ้นอยู่กับความสอดคล้องของนโยบายและคณะผู้บริหารของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่กรุงเทพมหานคร
ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครโดยทริสเรทติ้งในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาตลาดพันธบัตรสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ โดยจะเป็นตัวอย่างในการระดมทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในโอกาสต่อไป กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การก่อหนี้ในระดับท้องถิ่นอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่เหมาะสม รวมทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในอนาคต โดยจะต้องมีการกำหนดเพดานการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้มีการกู้เงินมากจนเกินกว่าความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบัญชีที่มีมาตรฐาน และมีระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในที่ดีอีกด้วย ในการกำหนดเกณฑ์การกำกับดูแลดังกล่าว กระทรวงการคลังจะคำนึงถึงความเป็นอิสระในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนรวมให้มากที่สุด
ด้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมากทั้งในฐานะที่เป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและความเจริญด้านต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นจะต้องให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชน โครงการบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีงบประมาณที่จำกัด โดยในปี 2550 มีงบประมาณทั้งสิ้น 38,000 ล้านบาท ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในงบดำเนินการ ที่เหลือเป็นงบผูกพันโครงการต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการโครงการที่สำคัญใหม่ๆ ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนเป็นอย่างมาก แม้กรุงเทพมหานครจะสามารถบริหารงบประมาณรายจ่ายที่เพียงพอกับรายได้มาโดยตลอด แต่ข้อจำกัดและเงื่อนไขเวลาในการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอาจไม่ทันการ กรุงเทพมหานครจึงเริ่มนโยบายในการจัดหาแหล่งเงินจากตลาดทุนเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยได้ให้ทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของประเทศ ทำการจัดอันดับเครดิตเพื่อเตรียมความพร้อมในการระดมทุน อีกทั้งอันดับเครดิตยังถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้เห็นศักยภาพของกรุงเทพมหานครด้วย ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหวังว่าการริเริ่มของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแม่แบบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ในการระดมทุนด้วยตนเองต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ