กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่งดเหล้าเข้าพรรษา และวางแผนที่จะเฉลิมฉลอง โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันออกพรรษา ควรดื่มอย่างมีสติ และปฏิบัติตามมาตรการเมาไม่ขับอย่างเคร่งครัด หากดื่มจนรู้สึกว่ามีอาการมึนเมา ไม่ควรขับรถด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด ให้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือรถแท็กซี่จะปลอดภัยมากกว่า กรณีที่ไปด้วยกันหลายคน ควรให้ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้ขับรถแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ สำหรับโทษของผู้ที่เมาแล้วขับ จะถูกจำคุก ๑๐ ปี ปรับสูงสุด ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิต
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในวันออกพรรษาเป็นวันที่ผู้งดเหล้าเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา ๓ เดือน มักถือโอกาสนี้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง จึงมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่วางแผนการเฉลิมฉลอง โดยการดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มอย่างมีสติ ซึ่งฤทธิ์ของการดื่มเหล้า ๒ แก้ว หรือเบียร์เกิน ๒ กระป๋องเล็ก เทียบเท่ากับแอลกอฮอล์ ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้ผู้ดื่มเกิดอาการมึนเมา สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง สมรรถนะในการขับรถลดลง ปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้าลงประสิทธิภาพในการมองเห็นและการได้ยินลดลง อีกทั้งเกิดความคึกคะนอง โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะอาจมีพฤติกรรมไม่ป้องกันตนเอง เช่น ขับขี่รถด้วยความเร็วสูง ไม่สวมหมวกนิรภัย ฝ่าฝืนกฎจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถกระชั้นชิด และขับรถส่ายไปมา เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ควรปฏิบัติตามมาตรการเมาไม่ขับอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๕๐ (ฉบับที่ ๗) ได้ระบุโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนเมาแล้วขับ หากถูกตรวจพบมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ — ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า ๒ เดือน ทำงานบริการสังคม ๑๒ — ๔๘ ชั่วโมง รวมทั้งการเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับและทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ — ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน และหากเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกตั้งแต่ ๓ — ๑๐ ปี ปรับตั้งแต่ ๖๐,๐๐๐ — ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้ง ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีวิต ทั้งนี้ การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ ซึ่งศาลมีอำนาจในการกำหนดการพักใช้ใบอนุญาต ตลอดจนการเพิกถอนใบอนุญาตตลอดชีวิต เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองและบุคคลอื่นในช่วงเทศกาลออกพรรษานี้ หากผู้ดื่มรู้สึกมีอาการมึนเมา ไม่ควรขับรถด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด ควรจอดพักบริเวณที่ปลอดภัยจนกว่าจะหายเมาแล้วค่อยขับรถต่อ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือรถแท็กซี่จะปลอดภัยมากกว่า กรณีไปด้วยกันหลายคน ควรให้ผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ขับรถแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ สุดท้ายนี้ ขอย้ำเตือนว่า การเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสำคัญโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เทศกาลแห่งความรื่นเริงเป็นช่วงเวลาแห่งความสูญเสียได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เบอร์โทรศัพท์ : 02 2432200