กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส์
เสียงโหวตขวัญใจคนอยากเขียนจดหมายถึงมากที่สุดในงานสัปดาห์จดหมาย คือ นายกฯ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ส่วนใหญ่สะท้อนความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน อยากให้เกิดความสามัคคีปรองดองกัน อันดับสองเป็นของอภิรักษ์หลังรีเทิร์นตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.หมาด ๆ ตามด้วยขวัญใจมหาชน “พี่เบิร์ด ธงไชย”
นางปริษา ปานะนนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ไปรษณีย์ไทยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาร่วมงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย ปี 2551 (วันที่ 4-12 ต.ค.) ที่ผ่านมา ร่วมกันออกเสียงโหวตเลือก “ทูตจดหมายแห่งไมตรี” หรือผู้มีชื่อเสียงที่อยากเขียนจดหมายถึงมากที่สุด เพื่อเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ส่งเสริมให้คนหันมาเขียน “จดหมาย” กันมากขึ้นนั้น ปรากฎว่ามีผู้สนใจร่วมออกเสียงเกือบ 1,000 คน
“แม้ว่าส่วนมากยังต้องการเขียนถึงญาติผู้ใหญ่ของตน เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายายก็ตาม แต่ในส่วนของบุคคลสาธารณะแล้ว พบว่า นายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นอันดับหนึ่งที่มีผู้อยากเขียนจดหมายถึงมากที่สุด ส่วนใหญ่แสดงความห่วงใยในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ที่มีความขัดแย้งกันทางความคิด แต่ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกของคนไทยด้วยกัน จึงอยากให้นายกฯ ช่วยแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่าทุกๆ คน ให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิดทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการโหวตทูตจดหมายแห่งไมตรีครั้งนี้” นางปริษากล่าว
สำหรับผู้ได้รับเสียงโหวตอันดับสองได้แก่ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งประชาชนอยากให้ช่วยพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอยากเขียนให้กำลังใจในการทำงานการเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่สอง ขณะที่อันดับสามตกเป็นของนักร้องขวัญใจมหาชน “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ถือเป็นบุคคลตัวอย่างในวงการบันเทิงที่สามารถรักษาความนิยมไว้ได้อย่างเหนียวแน่นยาวนาน ส่วนอันดับรอง ๆ ลงมามีตั้งแต่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร “แพนเค้ก” เขมนิจ และ “บี้” สุกฤษฎิ์ เป็นต้น
อนึ่ง ไปรษณีย์ไทยยังเปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศร่วมกันโหวตเพื่อเฟ้นหา “ทูตจดหมายแห่งไมตรี” ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเขียนไปรษณียบัตร หรือจดหมายระบุชื่อ-นามสกุลของบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งที่เป็นบุคคลสาธารณะ หรือจากหลากหลายอาชีพ ผู้ซึ่งตนอยากเขียนจดหมายไปถึงมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม พร้อมบอกเหตุผล ส่งไปที่ ตู้ปณ.123 ปณฝ. สำนักงาน ปณท กรุงเทพฯ 10002 โดยไม่ต้องติดแสตมป์ รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสื่อสารการตลาด โทร. 0 2831 3511
ส่วนสื่อสารการตลาด ฝ่ายสื่อสารการตลาด โทรศัพท์ 0 2 831 3515 — 16