สองเยาวชนไทยนักคิดพัฒนาต่อยอดซอฟต์แวร์ไทยให้ทัดเทียมตลาดโลก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday October 15, 2008 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.-- จากการประกาศผลรางวัลผู้ชนะการประกวด Thailand ICT Awards 2008 โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีนักคิดที่เป็นเยาวชนไทยสองคนที่คว้ารางวัลด้านซอฟต์แวร์มาครองสำเร็จ กับผลงานภายใต้ชื่อว่า OpenToon ที่เป็นโปรแกรมที่ดัดแปลงจากภาพจริง ภาพวีดีโอ ภาพถ่าย หรือภาพที่ถ่ายจากเว็บแคม ให้เป็นภาพการ์ตูนได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคนิควิธีการทำเส้นขอบและการใช้โทนสีที่น้อยลง กับแนวคิดดี ๆ ที่เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ค้นคว้า และต้องการเติมเต็มความรู้สู่สมอง เพื่อพัฒนาแนวคิดอยู่เสมอ นายณัฐพล ทองอู๋ ผู้คิดค้นซอฟต์แวร์ OpenToon เส้นทางมี้ไม่ใช่ได้มาแบบง่าย ๆ เพราะตลอดระยะที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นเยาวชนที่ควรเอาแบบอย่าง ซึ่งอดีตเมื่อสมัยเรียนมัธยมจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เคยทำโครงการเรื่องการประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องเหวี่ยงแยกสารต้นทุนต่ำส่งเข้าประกวด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจุดประกายความคิดให้เยาวชนตัวเล็ก ๆ เริ่มพัฒนาความคิด และแนวทางการเรียนรู้ อีกทั้งยังเคยเป็นนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ สาขาวิชาฟิสิกส์อีกด้วย สำหรับผลงานที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมาคือ โครงการเรื่องการประดิษฐ์มือหุ่นยนต์แบบใช้เทคนิคการลดจำนวนมอเตอร์ ที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายของการประกวด PHILIPS Inovation award, รางวัลชนะเลิศการแข่งขันซอฟต์แวร์แห่งชาติ (National Software Contest) ปี 2008 และรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน World Robocup Soccer 2008 ในชื่อทีม Plasma-Z นายสุพรรณ ฟ้ายง ผู้ร่วมคิดค้นซอฟต์แวร์ OpenToon เป็นอีกท่านที่เคยเป็นนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ สาขาวิชาฟิสิกส์ เมื่อครั้นศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และมีผลงานการส่งประกวดต่อยอดความคิด คือ แข่งขัน AI Bomberman ระดับมหาวิทยาลัย ของบริษัท Microsoft ประเทศไทยจนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2, รางวัล Bronze Award ในการประกวด software บนมือถือ ในรายการ Samart Innovation Award รางวัลชนะเลิศการแข่งขันซอฟต์แวร์แห่งชาติ (National Software Contest) ปี 2008 และรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน World Robocup Soccer 2008 ในชื่อทีม Plasma-Z สำหรับในครั้งนี้กับรางวัล OpenToon ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยความตั้งใจ ที่จะพัฒนาการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าอุตาหกรรมนี้เริ่มมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ดังที่เห็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นกว่า 10 เรื่องในปีนี้ที่เข้าฉายทั้งในโรงภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ดังนั้นแนวคิดและแรงจูงใจเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นกับผลงาน OpenToon OpenToon โปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาการ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน กับการ์ตูนแอนิเมชัน 2 มิติที่สร้างจากการถ่ายทำภาพยนตร์จริง เช่น Scanner Darkly โดยใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Rotoscope ในการแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่น ซึ่งภาพที่ออกมานั้นดูเหมือนภาพการ์ตูนที่ใช้คนวาดมาก และมีความสวยงาม แต่โปรแกรมนี้มีข้อจำกัดคือ การแปลงภาพยนตร์จริงเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นนั้น ต้องใช้คนวาดภาพการ์ตูนจากภาพยนตร์ประกอบด้วย โดยให้ผู้ใช้กำหนดเส้นขอบในบางส่วนของภาพ แล้วโปรแกรมจะวาดส่วนที่เหลือของภาพอย่างอัตโนมัติจากข้อมูลส่วนที่ใช้คนวาด การที่ต้องใช้คนวาดบางส่วนนั้นเป็นเพราะว่า Rotoscope ต้องใช้ข้อมูลภาพบางส่วนเพื่อสร้างการ์ตูนแอนิเมชันที่มีลายเส้นและรูปแบบที่ผู้สร้างการ์ตูนต้องการ ดังนั้นโปรแกรมซอฟต์แวร์ OpenToon จะช่วยให้เราสามารถสร้างการ์ตูนแอนิเมชันที่เหมือนกับการ์ตูนที่ใช้คนวาดจากภาพยนตร์จริงได้แบบที่ใช้โปรแกรมทำงานให้ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีคนวาดภาพการ์ตูน หรือใช้คนวาดน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้การสร้างการ์ตูนแอนิเมชัน 2 มิติสามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก และประหยัดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นโปรแกรมดังกล่าวยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดศักยภาพในการทำงานด้านซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบการ์ตูนในอนาคตได้ด้วย ปัจจุบันสองเยาวชนนักคิดศึกษาอยู่ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 และเตรียมตัวนำผลงานดังกล่าวส่งเข้าประกวดในเวทีใหญ่อีกครั้ง กับ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards 2008 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 — 16 พฤศจิกายน 2551 นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ผลงานของสองเยาวชนไทยจะเข้าถึงเส้นชัยในเวทีต่างประเทศหรือไม่นั้นคนไทยคงต้องเอาใจช่วยเพื่อผลงานดี ๆ และผลักดันบุคลากรที่จะเป็นอนาคตของชาติด้วย ผู้ส่ง : จตุพล ศิริเดช เบอร์โทรศัพท์ : 081-423-8606

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ