ปภ. แนะวิธีเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่…เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Wednesday October 15, 2008 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ปภ. หลังเทศกาลออกพรรษาเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปทอดกฐินตามวัดในจังหวัดต่างๆ และกลับภูมิลำเนา ทำให้การจราจรบนท้องถนนมีปริมาณรถมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องและปลอดภัยจากเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มักเกิดขึ้นในการเดินทาง ดังนี้ ยางแตก ผู้ขับขี่ต้องจับพวงมาลัยให้มั่นคง พยายามบังคับพวงมาลัยให้ตรงทิศทาง ไม่ควรกระชากพวงมาลัยเด็ดขาด รวมทั้งไม่เหยียบเบรกอย่างกะทันหัน เพราะรถยนต์จะเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำได้ ให้ค่อยๆ ถอนคันเร่ง และลดความเร็วลง โดยเหยียบคันเร่งสลับกับการปล่อย เพื่อมิให้น้ำหนักถ่ายลงด้านหน้ามากเกินไป แล้วรีบนำรถเข้าข้างทางเพื่อทำการเปลี่ยนยาง หากยางที่แบนไม่ได้รั่วเป็นรูขนาดใหญ่ ให้เติมลมยางแข็งกว่าปกติสัก ๕ — ๑๐ ปอนด์/ตารางนิ้ว และค่อยๆ ขับต่อไปจนถึงร้านเปลี่ยนยาง เบรกแตก กรณีเบรกแตกหรือน้ำมันเบรกรั่ว ผู้ขับขี่ควรตั้งสติให้มั่น เมื่อเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้วลึกต่ำกว่าปกติ ต้องเหยียบแบบซ้ำๆ และถี่ๆ เพื่อดึงประสิทธิภาพที่เหลืออยู่ของระบบเบรกมาใช้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้ผ้าเบรกสร้างแรงเสียดทานพร้อมกับลดเกียร์ต่ำครั้งละ ๑ เกียร์ จนถึงเกียร์ต่ำสุด แล้วค่อยใช้เบรกมือช่วย ส่วนรถที่ใช่ระบบเบรกเอบีเอส ควรเหยียบเบรกลงไปให้แน่นๆ ห้ามเหยียบเบรกแล้วสลับกันถี่ๆ เพราะอาจทำให้ล้อล็อก ให้ค่อยๆ ควบคุมพวงมาลัยไปยังทิศทางที่ต้องการ รถหลุดออกนอกเส้นทาง ผู้ขับขี่ต้องตั้งสติให้มั่น ไม่ควรเหยียบเบรกอย่างแรง เพราะอาจทำให้ล้อล็อกหรือลื่นไถลจนเสียการทรงตัว ให้ค่อยๆ ลดความเร็วด้วยการแตะเบรกแล้วปล่อย พร้อมกับลดเกียร์เพื่อใช้เครื่องยนต์ช่วยในการชะลอความเร็ว ที่สำคัญ หากมีสิ่งกีดขวางเส้นทาง ไม่ควรหักหลบในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้คันเร่งค้าง กรณีเป็นรถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เบรกในการชะลอความเร็วโดยไม่ต้องแตะคลัตช์ ให้ใช้คลัตช์เฉพาะตอนเปลี่ยนเกียร์ และประคองรถยนต์เข้าสู่ไหล่ทาง พร้อมใช้ปลายเท้าสอดเข้าใต้แป้นคันเร่งเพื่องัดขึ้น หากแป้นคันเร่งงัดขึ้นไม่ได้ ให้บิดกุญแจเพื่อดับเครื่องยนต์ แต่ไม่ควรบิดกุญแจจนถึงจังหวะที่พวงมาลัยล็อกและใช้เบรกชะลอความเร็วลงเรื่อยๆจนถึงไหล่ทาง เครื่องยนต์ร้อนจัด — น้ำหม้อน้ำแห้ง กรณีที่น้ำในหม้อน้ำรั่วซึมอย่างผิดปกติ ผู้ขับขี่ต้องจอดรถหลบในที่ปลอดภัย รอให้เครื่องยนต์เย็นลง แล้วหาผ้าหนาๆ ขนาดกว้างพอสมควร คลุมฝาหม้อน้ำให้มิด แล้วบิดออกเล็กน้อยก่อน เพื่อให้แรงดันภายในคลายตัวออกบ้าง หลังจากนั้นค่อยๆ เปิดฝาหม้อน้ำ ควรระวังไอน้ำหรือน้ำร้อนพุ่งขึ้นมาและไม่ควรรีบเติมน้ำลงไปทันที ต้องรอให้เครื่องยนต์คลายความร้อน ประมาณ ๒๐ — ๓๐ นาที ในการเติมน้ำให้ค่อยๆ เติมทีละนิด และทิ้งช่วงสัก ๕ นาที เพื่อให้น้ำที่เติมดึงความร้อนให้กระจายตัว เพราะโลหะที่ร้อนจัดถูกน้ำเมื่อถูกน้ำเย็นจะหดตัวและแตกร้าวได้ รถแล่นส่วนเข้ามาในช่องทาง มักเกิดขึ้นในกรณีที่เป็นถนนแบบ ๒ เลนสวนกัน ผู้ขับขี่ควรลดความเร็ว แต่อย่ามากจนรถที่ตามมาด้านหลังชนได้ มองกระจกด้านซ้ายเพื่อมองหาช่องทางหนี พร้อมกระพริบไฟสูงและบีบแตรเตือนและเบี่ยงออกช่องทางซ้าย แต่ไม่ควรหลบข้ามไปในช่องทางรถที่สวนมา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้สิ่งของกีดขวางการจราจรไม่ควรขับรถทับสิ่งของ เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย ขั้นแรกควรชะลอความเร็ว หากช่องทางทั้งด้านซ้าย - ขวา ไม่มีรถยนต์แล่นตามหลังมา ให้หักหลบโดยพยายามเบี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะหากหักหลบมากๆ ในขณะที่ขับรถเร็ว อาจทำให้รถหมุนและหลุดออกนอกเส้นทางได้ หากเลี่ยงไม่ได้ หลังการทับหรือชนสิ่งของ ควรจอดรถและตรวจสอบชิ้นส่วนใต้ท้องรถว่าเสียหายหรือไม่ เช่น คันชัก คันส่ง ท่อส่งเชื้อเพลิง ถังน้ำมัน ยาง เป็นต้น สุดท้ายนี้ ฝากเตือนผู้ขับขี่ที่ต้องเดินทางไปทอดกฐินและกลับภูมิลำเนาในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ ตรวจสอบสภาพยานพาหนะก่อนออกเดินทางทุกครั้ง รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือไว้สำหรับเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แม่แรง ไฟฉาย ยางอะไหล่ เป็นต้น เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นในขณะเดินทาง ที่สำคัญ ผู้ขับขี่ควรมีสติ ไม่ประมาท ไม่ขับรถเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ : 02 2432200

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ