กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--สปส.
เรื่องโดย… รชต หอมหวล
ถ้าพูดถึงสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนไปใช้สิทธิมากที่สุด คงหนีไม่พ้นสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ซึ่งในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ประกันตนไปใช้บริการทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลประจำเดือนกรกฎาคม 2549 มีจำนวนผู้ประกันตนไปใช้บริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น 11,664,496 ครั้ง และมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยไปแล้วจำนวน 8,433 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามความรู้สึกทุกครั้งที่ผู้ประกันตนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไปใช้บริการทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ละครั้งจะต้องเกิดอาการกล้าๆ กลัว ๆ ว่าจะได้รับการบริการแบบคนไข้ชั้น 2 ตามคำร่ำลือหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สำนักงานประกันสังคมไม่ได้มองข้าม และพยายามพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ถือบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลกว่า 8.7 ล้านคน มีความมั่นใจในการบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลตามบัตรฯ มากขึ้น และลบภาพของคนไข้ชั้น 2 ออกจากความรู้สึกให้เร็วที่สุด
“โครงการสถานพยาบาลในดวงใจ” นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำนักงานประกันสังคมนำมาใช้ในการกระตุ้นให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมให้บริการทางการแพทย์อย่างมีมาตรฐาน วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่สถานพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือกให้เกิดขวัญกำลังใจในการบริการที่ดีและสร้างแรงจูงใจให้สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมได้ตระหนักถึงการยกระดับคุณภาพการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ โดยมีหลักเกณฑ์อยู่ว่า สถานพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือก ต้องเป็นสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ในโครงการประกันสังคมและต้องได้รับคะแนนประเมินคุณภาพจากคณะที่ปรึกษาทาง การแพทย์ตั้งแต่ 90% ขึ้นไป สิ่งสำคัญสถานพยาบาลดังกล่าวต้องได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) รวมทั้งมีการจัดระบบบริการที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่สะดวกสบายตลอดระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้ง ไม่มีข้อร้องเรียนและมีจำนวนโควต้าผู้ประกันตนในสัดส่วนที่สูงหรือไม่มีจำนวนโควต้าผู้ประกันตนลดลงในแต่ละปี
สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล สถานพยาบาลในดวงใจในปีนี้ มี 8 แห่งด้วยกัน จากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่อยู่ในโครงการประกันสังคมทั้งสิ้น 269 แห่ง สำหรับรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจระดับประเทศในปีนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สถานพยาบาลในดวงใจที่ชนะรางวัลระดับภาค ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน ชนะเลิศประจำภาคกลาง โรงพยาบาลมหานครเชียงใหม่ ชนะเลิศประจำภาคเหนือ โรงพยาบาลขอนแก่น ชนะเลิศประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรีและโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดชลบุรี ชนะเลิศประจำภาคตะวันออก โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและโรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง ชนะเลิศประจำภาคใต้รางวัลที่สถานพยาบาลได้รับนอกเหนือไปจากเงินรางวัลและเกียรติบัตรพร้อมโล่รางวัลแล้ว คือความภาคภูมิใจของบุคลากรและกำลังใจอย่างล้นเหลือในการทำงานต่อไป
นายแพทย์จรุง อุคพัชญ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งได้รับรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจระดับประเทศ กล่าวว่า “การที่โรงพยาบาลของเราได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลของเรามีมาตรฐานในการให้บริการที่ดีเยี่ยม เน้นหนักการให้ผู้ประกันตนได้รับการบริการ ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยเป็นสำคัญ”
นายแพทย์วิทยา จารุพูนผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งได้รับรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “สำหรับภารกิจหลักของโรงพยาบาลของเรานั้นจะมุ่งเน้นตามนโยบายของสำนักงานประกันสังคมเป็นสำคัญ เราถือว่าผู้ประกันตนที่มาใช้บริการเป็นลูกค้าชั้นดีเสมอ พร้อมเปิดให้บริการทั้งคลินิกนอกเวลาและในเวลาทำการปกติ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการบริการที่ดีที่สุด ทางโรงพยาบาลจะไม่มีการแบ่งแยกตัวยา เพราะเรามีมาตรฐานการจ่ายยาในแนวทางเดียวกัน สิ่งสำคัญทางโรงพยาบาลจะไม่มีการแบ่งแยกว่าผู้ป่วยใช้สิทธิอะไรเพราะทุกคนคือลูกค้าคนสำคัญเสมอ”
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า” ในปี 2550 ที่จะถึงนี้สำนักงานประกันสังคมจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพทางบริการแพทย์ของโรงพยาบาลตามบัตรฯ เพื่อลบภาพคนไข้ชั้น 2 นอกจาก ”โครงการสถานพยาบาลในดวงใจ” แล้วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตนจึงมีการจัดทีมคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ออกตรวจสอบการบริการของโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” เพื่อรับร้องเรื่องกรณีเจ็บป่วยและให้คำปรึกษาทางการแพทย์ จัดให้สถานพยาบาลมีระบบบริการแบบ one stop service เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกันตน ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาลเพื่อส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในการให้บริการแก่ผู้ประกันตน”
1 มกราคม - 31 มีนาคม 2550 นี้ สำนักงานประกันสังคมเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลสามารถเลือกโรงพยาบาลเพื่อขอรับบริการทางการแพทย์ได้อีกครั้ง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นกลไกในการควบคุมคุณภาพของสถานพยาบาล กล่าวคือ หากโรงพยาบาลใดรักษาดี บริการดี ใครๆก็อยากเลือกเข้ารับการรักษาเป็นธรรมดา โรงพยาบาลไหนให้บริการแย่ รักษาไม่ดี ผู้ประกันตนก็ย่อมไม่ต้องการ สำหรับใครที่หาโรงพยาบาลในดวงใจได้แล้วก็สามารถยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล (สปส.9-02 ) ได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและเขตพื้นที่หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 และที่ www.sso.go.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net