สศร.เผยหลักเกณฑ์การเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

ข่าวทั่วไป Thursday October 16, 2008 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สศร. ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สศร. ได้สนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยสาขาต่างๆ ทั้งที่เป็นเครือข่ายศิลปินในส่วนกลาง และเครือข่ายศิลปินที่สร้างงานในภูมิภาคมาโดยตลอด การให้การสนับสนุนนี้นับเป็นการสร้างความมั่นใจ และเป็นกำลังใจสำคัญสำหรับศิลปินที่จะพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นแกนนำให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ ส่วนข้อกำหนดสำหรับการเสนอโครงการ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนส่งเสริมเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นั้น ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเปิดเผยว่า สศร. ได้จัดทำข้อกำหนดขึ้นดังต่อไปนี้ 1. ผู้มีสิทธินำเสนอโครงการ 1.1 ศิลปินร่วมสมัย 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์, ศิลปะการแสดง, คีตศิลป์, วรรณศิลป์, สถาปัตยกรรม, มัณฑนศิลป์, เรขศิลป์, ภาพยนตร์, การออกแบบเครื่องแต่งกาย ทั้งที่เป็นศิลปินเดี่ยว และ ศิลปินกลุ่ม โดยจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับในสาขานั้นๆ 1.2 หน่วยงาน องค์กรทางศิลปะ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หอศิลป์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาที่ต้องการจัดกิจกรรมทางศิลปะในลักษณะการสร้างสรรค์ผลงาน 2. ลักษณะของโครงการ ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ทุกประการ คือ 2.1 โครงการที่นำเสนอต้องก่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและสุนทรียภาพ 2.2 เป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในสาขาต่างๆ 9 สาขา โดยไม่เป็นการลอกเลียนหรือทำซ้ำผลงานเดิม 2.3 เป็นโครงการที่มีการวางแผนการดำเนินงานอยู่แล้วแน่นอน และ ต้องการให้รัฐ เข้าไปร่วมสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อการมีส่วนร่วมเสริมสร้างและเพิ่มคุณค่าของโครงการนั้นๆ 2.4 เป็นโครงการที่มีแหล่งทุนแล้วบางส่วน 2.5 โครงการที่นำเสนอจะต้องได้รับการตอบสนองจากประชาชน หรือผู้ชม 2.6 ผลผลิตของโครงการต้องมีความชัดเจน โดยปรากฏในรูปแบบต่างๆ ของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นใหม่ และ /หรือ กิจกรรมทางศิลปะประเภทต่างๆ เช่น การฝึกอบรม, การจัดค่าย, การแสดงบนเวที, นิทรรศการ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถวัด หรือตรวจสอบผลผลิตนั้นๆ ได้ 2.7 ผู้นำเสนอโครงการจะต้องมีความชัดเจน ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น สถานที่ หรือพื้นที่เป้าหมาย เพื่อจัดแสดงงาน, ช่องทางการเผยแพร่ผลงาน, รูปแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น, ระยะเวลาการดำเนินงาน เป็นต้น 2.8 การดำเนินโครงการจะต้องไม่มีผลกระทบเชิงลบ หรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม จริยธรรม ขนบประเพณีที่ดีงามของชาติ 2.9 ผู้เสนอโครงการจะต้องจัดทำแบบประเมินผลโครงการของตนเองและรายงานผลต่อสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ พร้อมบันทึกลงในแผ่นซีดี 2.10 เมื่อสิ้นสุดโครงการผู้เสนอโครงการจะต้องรายงานผลในลักษณะบันทึกเรื่องเล่า Story-Line พร้อมบันทึกภาพ และ/หรือ เสียง และ/หรือ ภาพเคลื่อนไหว ในรูปแบบ Soft file ที่สื่อถึงรายละเอียดของการรังสรรค์งานบันทึกลงแผ่นซีดี 3. รายละเอียดของโครงการ จะต้องประกอบด้วย 3.1 หลักการและเหตุผล 3.2 วัตถุประสงค์ของโครงการ ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง 3.3 ระยะเวลาของการดำเนินโครงการ ตามข้อเท็จจริง 3.4 พื้นที่ /สถานที่จัดกิจกรรมตามโครงการ (ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานหรือจัดกิจกรรมได้ 3.5 กลุ่มเป้าหมาย (ผู้จัดกิจกรรม /ผู้เข้าร่วมกิจกรรม) 1. เป้าหมายเชิงปริมาณ 2. เป้าหมายเชิงคุณภาพ 3.6 ขั้นตอนการดำเนินการ แสดงในลักษณะแผนภูมิ 3.7 รูปแบบ หรือลักษณะ กิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการ เช่น การจัดฝึกอบรม การจัดการแสดงบนเวที การประกวด การสร้างสรรค์ เป็นต้น 3.8 งบประมาณ 3.8.1 จำนวนงบประมาณทั้งหมดที่กำหนดไว้ของโครงการพร้อมจำแนกจำนวนหัวข้อหลักของค่าใช้จ่าย 3.8.2 จำนวนงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหมายเหตุ แนวทางการกำหนดวงเงิน และ/ หรือ การจำแนกค่าใช้จ่ายของกิจกรรมต่างๆ ควรมีความสอดคล้องกับระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ ไม่ควรกำหนดไว้ในระดับที่สูงมากเกินกว่าส่วนราชการจะสนับสนุนได้ 3.9 แหล่งที่มาของงบประมาณทั้งโครงการ ผู้เขียนโครงการต้องแจ้งแหล่งที่มาของงบประมาณว่ารับจากที่ได้บ้าง จำนวนเท่าใด และต้องการสนับสนุนเพิ่มเท่าใด 3.10 ผลผลิต ผลลัพธ์ ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ 3.11 แนวทางการติดตามประเมินผล 3.12 ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อสิ้นสุดโครงการ 4. ลักษณะโครงการที่ไม่อยู่ในข่ายการอุดหนุน 4.1 โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการหาผลกำไร 4.2 โครงการจัดแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์, ภาคนิพนธ์, วิทยานิพนธ์ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นไปตามหลักสูตรข้อบังคับของสถานศึกษา 4.3 การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์, การก่อสร้างอาคาร, การปรับปรุงพื้นที่และ/หรืออาคาร 4.4 โครงการที่ไม่สามารถอ้างอิงรายละเอียดต่างๆ ที่แน่นอนได้ มีวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนหรือกระบวนการดำเนินงานไม่ชัดเจน 4.5 โครงการประเภท สังสรรค์ จัดประชุม ชุมนุม เสวนา ศึกษาดูงานของกลุ่มต่างๆ 4.6 โครงการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ เช่น ผลิตเทปเพลง ซีดีเพลง ฯลฯ 4.7 โครงการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบใหม่ เช่น วิดีโออาร์ต ซึ่ง สศร.ไม่สามารถควบคุมสคริปต์ ขั้นตอนการสร้างสรรค์งานได้ 4.8 โครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนอบายมุข เช่น การออกแบบลายไพ่ ฯลฯ 4.9 โครงการเพื่อการประชาสัมพันธ์ 4.10 โครงการที่อาจมีผลกระทบเชิงลบ หรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมจริยธรรมขนบประเพณีที่ดีงาม 4.11 โครงการที่ได้รับงบอุดหนุนแล้วบางส่วน แต่ปรากฏว่าลักษณะการแสดงออกของกิจกรรมมีผลกระทบเชิงลบหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม จริยธรรมขนบประเพณีที่ดีงาม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มีสิทธิพิจารณายกเลิกการอุดหนุนโครงการ 5. กรอบระยะเวลาการนำเสนอโครงการ สศร.กำหนดจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุน ปีละ 3 ครั้ง ผู้เสนอโครงการสามารถจัดส่งเอกสารโครงการได้ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ คือต้นเดือนตุลาคม เป็นต้นไป ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุนฯ จะวิเคราะห์และคัดกรองโครงการที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ทั้งนี้โครงการที่เสนอเข้าที่ประชุมหากผ่านไม่ผ่านการพิจารณารอบแรกจะไม่นำไปพิจารณาอีก ส่วนระยะเวลาการนำเสนอโครงการสามารถเสนอได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จนสิ้นสุดเดือนสิงหาคม ทั้งนี้สำนักงานฯ จะเบิกจ่ายเงินงบอุดหนุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน กรณีที่มีโครงการใดไม่ส่งเอกสารเพื่อเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณคือภายในวันที่ 15 กันยายน สำนักงานจะตัดสิทธิการเบิกจ่ายโดยปริยายเนื่องจากสิ้นสุดปีงบประมาณ 6. ขั้นตอนการนำเสนอโครงการ ผู้เสนอโครงการสามารถเสนอเอกสารโครงการที่มีรายละเอียดต่างๆ ครบ ที่ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ด้วยตนเอง หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าซองถึง ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เลขที่ 666 ถนนบรมราชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 ทั้งนี้เอกสารเสนอโครงการจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสนอโครงการ ดังนี้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ โทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก 7. การพิจารณาโครงการ ศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุน จะนำเอกสารโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุน มาวิเคราะห์และคัดสรรเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุน คณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุน จะพิจารณาโครงการต่างๆ ที่มีลักษณะและรายละเอียดครบถ้วนเป็นขั้นแรกก่อน แล้วจึงจะพิจารณารายละเอียดเนื้อหาโครงการเป็นลำดับต่อไป พร้อมจำนวนวงเงินงบประมาณที่เหมาะสม ระยะเวลาการพิจารณาโครงการจำแนกตามรายไตรมาส (นับตั้งแต่เดือนตุลาคม จนถึง เดือนสิงหาคม) ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะแจ้งผลการประชุมให้เจ้าของโครงการรับทราบ ผู้บริหารระดับสูงของ สศร. มีสิทธิในการอนุมัติจัดสรรงบอุดหนุนสำหรับโครงการที่มีความโดดเด่น เร่งด่วนและน่าสนใจเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณางบอุดหนุน แต่จะต้องรายงานการสนับสนุนนั้นๆ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ รับทราบทุกโครงการ 8. การประสานแจ้งถึงเจ้าของโครงการ ที่ผ่านการพิจารณาได้รับการจัดสรรงบอุดหนุน สศร. จะทำหนังสือแจ้งเรื่องการได้รับการพิจารณาจัดสรรงบอุดหนุนให้เจ้าของโครงการทราบ ซึ่งหนังสือแจ้งถึงจะประกอบด้วยเอกสารขอเบิกเงินงบอุดหนุน แบบสอบถาม เอกสารชี้แจงเรื่องงวดเงินกรณีเบิกจ่ายตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ซึ่งเจ้าของโครงการจะต้องจัดส่งเอกสารขอเบิกเงินงบอุดหนุนกลับคืนไปยัง สศร. โดยด่วน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานการขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน 9. การสรุปและรายงานผล รูปแบบการรายงานผล การรายงานผลการดำเนินโครงการ 9.1 ผู้เสนอโครงการจะต้องจัดทำแบบประเมินผลโครงการของตนเอง (เป็นแบบประเมินผลผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ) จัดส่งตัวอย่างแบบสอบถามและสรุปผลโดยรวมให้แก่ สศร. 9.2 หลังสิ้นสุดโครงการผู้เสนอโครงการจะต้องตอบแบบสอบถามโครงการซึ่ง สศร. จัดส่งให้พร้อมแบบขอเบิกเงินเป็นการรายงานผลการดำเนินงาน ต่อฝ่ายเลขานุการ 9.3 ผู้เสนอโครงการจะต้องจัดทำสรุปผลการดำเนินโครงการในรูปแบบเอกสารสิ่งพิมพ์พร้อมบันทึกลงในแผ่นซีดี ในลักษณะบันทึกเรื่องเล่า Story-Line พร้อมบันทึกภาพ และ/หรือ เสียง และ/หรือ ภาพเคลื่อนไหว ในรูปแบบ Soft file ที่สื่อถึงรายละเอียดของการรังสรรค์งานบันทึกลงในแผ่นซีดี 9.4 ผู้เสนอโครงการ จะต้องจัดส่งสื่อสิ่งพิมพ์ประกอบโครงการเช่นสูจิบัตร โปสการ์ด โปสเตอร์แผ่นพับ อย่างละไม่ต่ำกว่า 3 ชุดกลับไปยัง สศร. ภายใน 15 วันนับแต่สิ้นสุดโครงการ ศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โทร.0-2422-8823-5

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ