สวทช. ยกระดับผลิตภัณฑ์ไม้บาง ป้อนตลาดไม้อัด-เฟอร์นิเจอร์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday July 13, 2006 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)
สวทช. นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่สู่ธุรกิจไม้บางจากยางพารา ป้อนตลาดไม้อัด-เฟอร์นิเจอร์ไทย หวังเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปจากไม้ท่อน สู่ไม้บาง ที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
ไม้บาง (veneer) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง , เฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ แต่มักมีปัญหาเรื่องของคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของบริโภคในประเทศ ขณะที่ไทยเองมีทรัพยากรไม้ที่สามารถนำมาผลิตไม้บางเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศได้ เช่น ไม้ยางพาราที่มีอยู่มากมายในพื้นที่แถบภาคใต้ของไทย
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโครงการ ITAP ได้เข้าไปให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้แปรรูปขนาดกลางและขยายย่อม โดยเฉพาะไม้ยางพารา ล่าสุด สวทช.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่สำหรับการผลิตไม้บาง หรือ ไม้วีเนียร์ (veneer) จากไม้ยางพาราตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงาน โดยโครงการ ITAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นคณะอาจารย์จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปเป็นที่ปรึกษา แนะนำตั้งแต่ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงาน , การวางระบบการผลิต , การเลือกใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปจนถึงวิธีการทำงานให้กับบุคลากรของบริษัทฯ
“ บริษัท ลามิน วู้ด อินดัสตรี้ จำกัด เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการเองที่มีความคิดที่จะทำธุรกิจด้านไม้บางจากไม้ยางพารา แต่ไม่มีประสบการณ์ จึงได้เข้ามาขอความช่วยเหลือจากโครงการ ITAP และทางโครงการฯ เองก็เห็นว่า โรงงานผลิตไม้บางของไทยมีเพียงไม่กี่ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นโรงงานแปรรูปไม้ ด้วยวิธีการเลื่อย,อัดและอบ ประกอบกับในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรไม้ยางพาราอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังมีไม่มากนัก ” นางสาวชนากานต์ กล่าว
โดยโครงการITAP(สวทช.)ได้สนับสนุนเงินส่วนหนึ่งในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาภายใต้ “โครงการการพัฒนาคุณภาพการผลิตไม้บางจากไม้ยางพารา” เพื่อให้คำแนะนำในเรื่องของการวางผังโรงงาน วิธีการผลิต การคัดเลือกไม้ การเลือกเครื่องจักรสำหรับปอกไม้ที่เหมาะสม การปรับปรุงกระบวนการผลิต แนะนำเทคนิคใหม่ๆในการทำผลิตภัณฑ์ และถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงานในการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิคในการผลิต นอกจากนี้ยังได้ออกแบบและพัฒนาเตาอบสำหรับอบไม้บางจำนวน 2 เตาประกอบด้วย เตาอบไอน้ำที่ใช้พลังงานความร้อนจากเศษไม้เหลือใช้มาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และเตาอบลูกกลิ้ง ซึ่งเตาอบชนิดนี้ จะเป็นการอบและรีดไม้ให้เรียบไปพร้อมๆกันในขั้นตอนเดียว ที่สำคัญมีราคาไม่แพงและเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศ
ด้าน นายวัฒนา พาณิชย์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลามิน วู้ด อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไม้บาง หรือไม้วีเนียร์ กล่าวว่า “ สาเหตุที่หันมาให้ความสนใจกับธุรกิจไม้บาง เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ถึงแม้บริษัทฯ จะเพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2548 ที่ผ่านมาและยังขาดประสบการณ์ แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของคู่แข่งในพื้นที่ เพราะยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับไม้แปรรูป ปัจจุบันเฉพาะในจังหวัดตรังมีผู้ผลิตไม้บางอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น จึงไม่น่าหนักใจ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานที่ทางบริษัทฯให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้เปรียบ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบน และจะผลิตเฉพาะไม้เกรด A , AB , ABC โดยจะผลิตตามออเดอร์เท่านั้น ปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตไม้บางป้อนให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เชื่อว่า เรื่องของตลาดไม่น่ามีปัญหา”
สำหรับผลที่ได้รับในการเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ ITAP นั้น นายวัฒนา ยอมรับว่า “ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต เชื่อว่าการที่บริษัทฯ นำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตจะส่งผลดีต่อสินค้าของบริษัท และมั่นใจว่า สินค้าที่บริษัทผลิตออกมาจะมีคุณภาพและมาตรฐาน ส่งผลให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดีกว่า โดยบริษัทฯ จะยังคงพัฒนาเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป พร้อมตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตจาก 60 — 70 คิวบิกเมตรต่อเดือนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 150 - 200 คิวบิกเมตรต่อเดือน คาดว่า จะมียอดขายจากเดิมประมาณ 6- 7 แสนบาท/เดือนในระยะแรก เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาทต่อเดือนได้ในอนาคต ”
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ไม้บาง หรือ ไม้วีเนียร์( veneer) นำไปใช้ประกอบชิ้นส่วนเป็นแผ่นไม้อัด , ไม้ดัดโค้ง , ไม้Particleboard และ Medium Density Fibreboard (MDF) ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์,กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ดังนั้นเรื่องของคุณภาพไม้บางจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากไม้บางเป็นแผ่นไม้ที่มีความหนาเพียง 1 — 2 มิลลิเมตร หากการผลิตไม่ได้มาตรฐานและการคัดเลือกไม้ที่ไม่ได้ขนาดแล้ว ย่อมทำให้ไม้ที่ผลิตออกมาเปราะบาง แตกหัก หรือ เกิดปัญหาโค้ง งอ ได้ง่าย ซึ่งเรื่องดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาอย่างมากกับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น ที่ต้องประสบปัญหาในการนำเข้าไม้บางราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศอยู่ในขณะนี้
ผลิตภัณฑ์ไม้บางจากไม้ยางพาราของบริษัท ลามิน วู้ด อินดัสตรี้ จำกัด จึงเข้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาตอบสนองและเติมเต็มความต้องการของตลาดในประเทศได้ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐาน ผู้สนใจติดต่อได้ที่ คุณวัฒนา พาณิชย์กุล โทร.075-219-448 , 075-225-287-8 และ 0-1891-7946
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คุณนก หรือคุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187,8
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ