ผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 16, 2008 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2551 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2551 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังมีสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ 1. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee) ครั้งที่ 78 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2551 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ทำหน้าที่ผู้แทนของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Group หรือ SEA Group) ของธนาคารโลก กล่าวถ้อยแถลงถึงประเด็นท้าทายที่สำคัญ เรื่องปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งปัญหาราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่ท้าทายและมีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจนอย่างมีนัยสำคัญ และเรียกร้องให้ธนาคารโลกเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนที่กำลังอดอยาก รวมทั้งตอบสนองให้ตรงความต้องการของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับปัญหาเรื่องพลังงานเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบทั่วโลกโดยธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อรองรับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงความสำเร็จของไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัวผ่านนโยบายเพื่อให้โอกาสกับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SML และโครงการ OTOP เป็นต้น และยังได้เน้นย้ำความร่วมมือ ทางการเงินภายใต้กลุ่มประเทศ ASEAN + 3 เพื่อเป็นมาตรการรองรับวิกฤตการเงินโลกร่วมกัน สำหรับความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวชื่นชมในความคืบหน้าของความร่วมมือของสถาบันการเงินระดับพหุภาคีต่างๆ รวมทั้งธนาคารโลกในการที่จะร่วมกันขจัดก๊าซคาร์บอน และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการและรองรับผลกระทบต่างๆ จากปัญหา Climate Change นอกจากนี้ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อเรื่องการปฏิรูปอำนาจการออกเสียง (Voice and Participation Issue) ของธนาคารโลก โดยมีจุดยืนสนับสนุนให้มีการเพิ่มเสียงและการมีส่วนร่วมให้แก่ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจัดเป็น stakeholder ที่สำคัญของธนาคารโลก เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาและยากจน เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จึงควรต้องมีการปรับปรุงอำนาจการออกเสียงของประเทศสมาชิกที่มีเสียงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น (under represented) และเห็นด้วยที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถส่งผู้แทนเข้าไปร่วมในคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกเพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในกลุ่มสมาชิกธนาคารโลกมากยิ่งขึ้น 2. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี2551 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในประเด็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงความสำเร็จของไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัวผ่านนโยบายเพื่อให้โอกาสกับประชาชนในการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SML และโครงการ OTOP เป็นต้นและยังได้เน้นย้ำความร่วมมือ ทางการเงินภายใต้กลุ่มประเทศ ASEAN + 3 เพื่อเป็นมาตรการรองรับวิกฤตการเงินโลก นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับธนาคารโลกด้านต่างๆ เช่น การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก การจัดทำรายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก การให้ความร่วมมือในการเพิ่มทุนในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 15 ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแสดงความเห็นว่า ธนาคารโลกจะต้องเร่งปรับบทบาทที่จะรองรับปัญหาที่ท้าทายต่างๆ เช่น ปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นปัญหา Climate Change รวมทั้งประเด็นวิกฤตการเงิน ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาในประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2551 ดังนี้ 3.1 หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิก - นาย Clay Lower ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนาย Loweryได้อธิบายถึงแผนแก้ไขสถาบันการเงินที่เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฏร ของสหรัฐอเมริกา และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยืนยันถึงความแข็งแกร่งของ เศรษฐกิจไทย และความพร้อมในการกำหนดมาตรการรองรับ ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อธิบายถึงความสำเร็จของไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวผ่านนโยบาย เพื่อให้โอกาสกับประชาชนในการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SML และโครงการ OTOP เป็นต้น - นาย Tim Geithner ประธานธนาคารกลางมลรัฐนิวยอร์ค โดย นาย Geithner ได้อธิบายถึงแนวทาง 4 ประการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแก้ไขวิกฤติการเงินของสหรัฐฯได้แก่ 1) การใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2) การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินจากงบประมาณรัฐบาล 3) การคุ้มครองเงินฝากในระบบธนาคาร และ 4) การเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารผ่านธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) - นาย Tharman Shanmugaratnam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกภาวะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศรวมทั้งมาตรการรองรับผลกระทบต่างๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เน้นความร่วมมือทางการเงินภายใต้กลุ่มประเทศ ASEAN + 3 เพื่อเป็นมาตรการรองรับวิกฤตการเงินโลกร่วมกัน - นาย Li Yong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจีน โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตการเงินโลก และวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกาและยุโรป และจีนเห็นว่า ควรเร่งรัดผลักดันกลไก Surveillance ของอาเซียน ได้แก่ เรื่อง CMI Multilateralisation (มาตรการริเริ่มเชียงใหม่) ให้มีผลสำเร็จและเป็นมาตรฐานสากลโดยเร็ว เพื่อรองรับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินที่จะมีต่อประเทศอาเซียน 2. องค์กรระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ - นาย Harahiko Kuroda ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤติการเงินโลก ภาวะเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งนาย Kuroda ได้กล่าวเตือนให้ไทยระวังผลกระทบที่จะลามมาถึงระบบการเงินไทยและเอเซีย และ นาย Kuroda อธิบายถึงความจำเป็นที่ให้สมาชิกเพิ่มทุนให้กับ ADB เพื่อเตรียมพร้อมกับการดำเนินกิจการในภาวะปัจจุบัน และได้กล่าวถึงการให้การสนับสนุนทางด้านการเงินจาก ADB เพื่อใช้จ่ายในการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐของไทย นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้ ADB สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Regional Public Debt Management Office Forumโดยจะเชิญผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้จากประเทศสมาชิกอาเซียน +3 มาทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง Financing Infrastructure in Asia ซึ่งคาดว่าจะจัดในช่วงต้นปี 2552 - นาย Robert Zoellick ประธานธนาคารโลก โดยได้หารือถึงความสำเร็จของการจัดทำความร่วมมือผ่าน Country Partnership Strategy (CPS) ระหว่างไทยกับธนาคารโลก ซึ่งได้เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และจะได้ร่วมมือต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางและความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบ Development Policy Loan (DPL) ซึ่งจะสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของไทย เช่น ด้านคมนาคม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น โดยจะมีการหารือในรายละเอียดระหว่างผู้แทนกระทรวงการคลังกับเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกต่อไป นอกจากนี้ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าของไทยในโครงการการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งธนาคารโลกได้มีการจัดตั้งกองทุนร่วมกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการ Clean Development Mechanism (CDM) สำหรับประเทศไทย กระทรวงการคลังได้ขอให้ธนาคารโลกสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเพิ่ม Capacity Building ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เป็นCarbon Finance Unit ของประเทศไทย - นาย Hiroto Arakawa, Senior Special Advisor ของ JICA โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความคืบหน้าของการสนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าของไทย และการสนับสนุนเงินกู้กับโครงการต่างๆ ของไทยในอนาคต - นาย Hiroshi Watanabe, President and CEO ของ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตการเงินโลก และแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบจากวิกฤตการเงิน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการใช้บริการ export finance ของ JBIC นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจาก Emerging Markets Newspaper และ Bloomberg ในประเด็นผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงแต่ภาวะ เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2551 จะขยายตัวที่อัตราร้อยละ 5 และในปี 2552 รัฐบาลจะยังคงใช้นโยบายการคลังแบบ ขาดดุลต่อไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อจะเป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสทาง สังคมโดยการให้โอกาสกับประชาชนจากมาตรการของรัฐบาล นอกจากนี้ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นความร่วมมือทางการเงินกับประเทศ ASEAN + 3 มากขึ้นเพื่อมีมาตรการรองรับร่วมกันและสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับระบบการเงินของ ASEAN + 3 สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3620

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ