“ เปร็ดในวันนี้ ” กับความสำเร็จของการพลิกป่าเสื่อม สู่ความสมบูรณ์ที่ยิ่งใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ

ข่าวท่องเที่ยว Thursday October 16, 2008 16:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--อพท. “ เปร็ดในวันหน้า ” จะอยู่รอดอย่างไร (ความลับนี้) อยู่ที่ชุมชน อพท. หนุนเปร็ดใน ชูกิจกรรมจุดประกายความคิดคงความเข้มแข็งชุมชน พร้อมชวนมองให้ไกลโดยใช้ประสบการณ์ในอดีต ควบคู่การเปิดโอกาสขยายพื้นที่มีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเปร็ดในวันนี้คงอยู่สู่เปร็ดในในอนาคต ที่คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรตลอดไป “ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน” ป่าชายเลนที่สมบูรณ์และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ตั้งอยู่บนเส้นทางแหลมศอก บ้านเปร็ดใน หมู่ 2 ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าตะเภาและป่าเลนน้ำเชี่ยว ในส่วนตำบลห้วงน้ำขาวมีขนาด 12,000 ไร่ เป็นส่วนของป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมดูแลรักษากันเอง เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่นักเที่ยวที่สนใจการเดินป่าบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติของระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสามารถเดินทางไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงไว้ได้เกือบ 100% หากจะเก็บเกี่ยวเกร็ดเล็กๆและเรียนรู้ให้ลึกลงไปกว่าบทบาทของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปแล้วจะพบว่า สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้มิใช่ได้มาโดยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว มีการ “ต่อสู้” คำที่ฮิตติดเอียงซ้ายที่ไม่ใคร่อยากใช้ แต่ดูเหมือนเป็นข้อความสื่อได้ตรงความหมายของการสละแลกและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญร่วมกันมาของชุมชนได้อย่างดีที่สุดแล้ว บันทึกการต่อสู้ที่มีกระบวนการและการพัฒนาอันยาวนานมากว่า 60 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศพื้นที่สัมปทานป่าชายเลนทับพื้นที่ป่าของชาวบ้าน ต่อมา พ.ศ.2525 กลุ่มทุนโดยบริษัทสัมปทานป่าลักลอบตัดไม้แบบผิดกติกาผิดจากการทำไม้สัมปทานในแบบที่ถูกที่ควร จนชาวบ้านออกมาคัดค้านนายทุนให้ออกไปจากพื้นที่ ในปี พ.ศ.2526 — 2529 บริษัทสัมปทานได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมเสนอโครงการพัฒนาป่าชายเลนแบบยั่งยืนจอมปลอม โดยอ้างอิงกระบวนการการความชอบธรรมตามกฎหมายโดยอ้างถึงการได้อนุญาตจากกรมป่าไม้ จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เพื่อทำการแบ่งเขตพื้นที่ป่า โดยเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ หากในความเป็นจริงและการปฏิบัติที่เกิดขึ้น นายทุนได้ทำการขุดคันคูน้ำกั้นน้ำเค็มทำนากุ้ง ทำลายระบบนิเวศป่าชายเลนป่าไม้เสียหายไปเป็นจำนวนมาก ชุมชนห้วงน้ำขาวและชุมชนใกล้เคียงจึงลุกขึ้นเพื่อรวมตัวต่อสู้กับนายทุนที่มีทั้งอาวุธและการใช้กำลังความรุนแรงในครั้งได้กระทั่งสามารถขับไล่นายทุนออกจากพื้นที่จนสำเร็จ จากนั้นกระบวนการพัฒนาของชาวบ้านก็เริ่มขึ้น จากการประสานการเปิดประตูน้ำในนากุ้ง การปลูกป่าทดแทนรวมพื้นที่กว่า 700 ไร่ ตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เต็มพื้นที่ภายใน 5 ปี การรณรงค์ชาวบ้านไม่ตัดไม้ ออกกฏและการลาดตระเวนโดยชุมชนโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา จากนั้นความงดงามของการพัฒนางอกเงยเป็นสิ่งดีงามเกิดขึ้นในชุมชนอีกมากมาย เกิดกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ที่เกิดขึ้นจากการสอบถามความสมัครของสมาชิกที่ตอบรับถึง 96% การแบ่งเขตพื้นที่ร่วมดูแลป่า การจัดการป่าชายเลนโดยชุมชนท้องถิ่น การเก็บข้อมูลชุมชน สหกรณ์หรือศูนย์สาธิตการตลาด กลุ่มพัฒนาสวัสดิการ กองทุนเพื่อชุมชน โดยชุมชนได้นำทุนมาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลดูแลกันเอง รวมทั้งการจัดสร้างสะพานข้ามคลอง จัดซื้อเรือลาดตระเวนและที่พักอาศัยสำหรับการตรวจป่า เป็นต้น ป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดในในวันนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของความหวานหอมของการรับประโยชน์จากผลแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก วงจรชีวิตที่นำมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน จิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งและแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง แต่ทว่าความจริงวันนี้อาจมิใช่ความจริงในวันข้างหน้า บ้านเปร็ดในยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อต่อสู้กับปัญหายังเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น สำหรับการรับมือกับปัญหาที่อาจรุกเข้ามาได้ทุกขณะ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จึงได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่บ้านเปร็ดในและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่งในบ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว และเสริมสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งตราดใน 6 ตำบล ของอำเภอเมืองและอำเภอแหลมงอบ โดยจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การประชุมสมาชิกและคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดในเพื่อร่วมหาแนวทางการทำงานร่วมกัน การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวในศูนย์เรียนรู้ทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ โดยการปรับปรุงเส้นทางเดินธรรมชาติให้มีความมั่นคง ปลอดภัยและสวยงามมากขึ้น การสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งตราด 6 ตำบลในอำเภอเมืองและอำเภอแหลมงอบเพื่อให้ผู้นำชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆได้มาร่วมมือในการทำงานอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งตราดในแบบเครือข่ายและเชื่อมโยง โดยประชุมและทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมเล็กๆ แต่นับเป็นจุดประกายความคิดคนเปร็ดในให้คงความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมมองการณ์ให้ไกลไปข้างหน้า โดยใช้ประสบการณ์การเรียนรู้จากอดีต กับสถานการณ์สร้างความเข้มแข็งที่ผ่านมา โดย อพท. เน้นย้ำในการเปิดโอกาสพร้อมขยายพื้นที่การเข้ามาร่วมกันของชุมชนที่มากมายหลากหลายขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต่อเชื่อมเปร็ดในวันนี้สู่เปร็ดในในอนาคตที่คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ