ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด

ข่าวท่องเที่ยว Friday October 17, 2008 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ททท. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด วันที่ 23 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2551 ณ วัดพระธาตุดอยกองมู และเขตเทศบางเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดือนสิบเอ็ดตรงกับเดือนตุลาคมของทุกปี ภาษาปุ่งนา (ปุโรหิต) เรียกว่า “ตู่หย่าสี่” ภาษาพม่าเรียกว่า “สะตางกยอด” เป็นเดือนที่พุทธบริษัทชาวไตพากันถวายจองเข่งต่างส่างปุ๊ด (จองพารา = ซุ้มรับเสด็จ) จุดธูปเทียนถวายภัตตาหาร ขนม นมเนย ผลไม้ในฤดูกาล ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ มีความเชื่อกันว่าหากได้จัดทำจองพาราเพื่อถวายบูชาพระพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไปจนครบ 7 วัน ครอบครัวจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ได้รับผลบุญกุศล และส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเรื่องราวกล่าวถึงบ่อเกิดประเพณีไว้ว่าพระโคดมสมณเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาเป็นเวลา ๗ พรรษา ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ในเมืองสาวัตถีที่อุทยานสวนมะม่วง เสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับนั่งเหนือปัณทุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรดสันตุฏฐีพุทธมารดา พร้อมทั้งเหล่าเทพยดาและพระพรหมตลอดระยะเวลาในพรรษา 3 เดือน และเสด็จนิวัติมนุษยโลกในวันเพ็ญเดือน 11 ณ เมืองสั่งกะนะโก่ (สังกัสนคร) ในการเสด็จลงมานั้น พระอินทร์ได้เนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว พาดตรงประตูสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้านทิศใต้ลงสู่ประตูเมืองสังกัสนครด้านทิศใต้เช่นเดียวกัน ก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือน 11 พระพุทธองค์ทรงมีกระแสรับสั่งถึงพระมหาโมคคัลลานว่าพระองค์จะเสด็จนิวัติมนุษยโลกในวันเพ็ญเดือน 11 พระมหาโมคคัลลานได้บอกข่าวการเสด็จนิวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจนทั่วทุกหนทุกแห่ง บรรดามนุษย์และสัตว์ที่สามารถมาได้ก็มารับเสด็จที่สังกัสนคร ที่มาไม่ได้ก็จัดทำจองเข่งต่างส่างปุ๊ด (ซุ้มประสาทรับเสด็จ) ที่บ้านเรือนของตน พอถึงเช้าวันเพ็ญเดือน 11 จะจัดอาหารบิณฑบาตและขนมนมเนยไว้ถวายพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาประทับยืนอยู่ที่หัวบันไดแก้ว แล้วเปล่งรัศมี 6 ประการ มาแสดงความชื่นชมบุญบารมีและเดชานุภาพแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สนุกสนานกันทั่วไปทุกถิ่นแคว้น ขณะที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีนั้น รัศมีแสงแห่งฉัพพรรณรังสีกระจายสาดส่องไปถึงจองเข่งต่างส่างปุ๊ด (ซุ้มประสาทรับเสด็จ) ของทุกบ้านเรือน บรรดาพุทธบริษัทที่อยู่ในบ้านเรือนรู้สึกชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมกันถวายภัตตาหารและจุดธูปเทียนบูชาเป็นเวลา 7 วัน ด้วยเหตุที่มีบ่อเกิดประเพณีตามแนวพุทธประวัติตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ดังกล่าวนี้ พอถึงวันเพ็ญเดือน 11 ครั้งใด ชาวไตจึงพากันทำจองเข่งต่างส่างปุ๊ด (ซุ้มประสาท) หรือจองพรารับเสด็จพระพุทธองค์ทุกบ้านเรือนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และได้จัดเป็นประเพณี “ปอยเหลินสิบเอ็ด” หรือประเพณีออกพรรษา ซึ่งประเพณีนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน กิจกรรม เทศกาลออกพรรษานี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 โดยจะไปสิ้นสุดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 - ในวันขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "วันก๋อยจ๊อด"ซึ่งเป็นวันเปิดงาน และก่อนวันออกพรรษา ประมาณ 3 วัน มีการจัดตลาดนัด บรรยากาศแบบพื้นบ้าน ที่เรียกกันว่า ตลาดแสงเทียน เพราะแต่เดิมยังไม่มีไฟฟ้า ใช้จุดไม้สนไม้เกี๊ยะ เทียนตะเกียง หรือประทีบโคมไฟต่างๆ - วันเตรียมข้าวของหรือที่เรียกว่า "วันดา" ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวช้านจะนำของมาขายแลกเปลี่ยนกัน มีการละเล่นรื่นเริงจนถึงรุ่งเช้า เช่น เฮ็ดกวามไต การตีกลองก้นยาว รำดาบ รำนก รำโต ปัจจุบัน สีสันของตลาดนัด แสงเทียน อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม - การแห่งจองพารา หรือ ปราสาทเสด็จรับพระพุทธเจ้า ในแต่ละปี จะมีหมู่บ้าน วัด ชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนำขบวนแห่จองพาราเข้ามาร่วมขบวนแห่ ซึ่งในแต่ละขบวนมีการแสดงถึงฝีมือการทำจองพารารูปแบบต่างๆ ที่มีความสวยงามวิจิตร ตามแต่ช่าง หรือสล่า จะสามารถแสดงฝีมือตัวเองโดยทุกปี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้สนับสนุนให้มีการประกวดขบวนแห่งจองพาราขึ้น เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้คงอยู่และสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้มาพบเห็น งานประเพณีจองพารา คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา (ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด) เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่าง วันขึ้น 15 ค่ำ ถึงวัน แรม 8 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี คำว่า "จองพารา" หรือ จองผลา เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า "ปราสาทพระ" การบูชาจองพารา จัดขึ้นตามความเชื่อเรื่องการรับเสด็จพระพุธเจ้า กลับมายังโลกมนุษย์ หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นไปเทศนา โปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ "จองพารา" ซึ่งเป็นปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่าง ๆ หน่อกล้วย อ้อย และโคมไฟ ตกแต่งสวยงาม เพื่อสมมุติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์ จากนั้นก็จะยก "จองพารา" ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลาน ทั้งที่บ้านและที่วัด - การตักบาตรเทโว เช้าตรู่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านนับพันจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง เรียงรายตามขั้นบันไดสองข้างทางที่คดเคี้ยว เพื่อทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ที่เดินตามขั้นบันได จากวัดพระธาตุดอยกองมู ลงมายังวัดม่วยต่อที่เชิงเขาในยามเช้า สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จมายังโลกมนุษย์ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามหาชมได้ยากยิ่ง ส่วนในตอน เย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียน และขนม ข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่ - ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี "ซอมต่อ"คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนิน ชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วยไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับ ร้อยนับ พันดวงตามวัด สถูป และบ้านเรือนในตอนใกล้รุ่งเป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจมาก - หลู่เตนเหง หรือ ประเพณีแห่เทียนพันเล่ม ช่วงสุดท้ายของประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ก่อนวันแรม 8 ค่ำ จะมีประเพณี "หลู่เตนเหง" หรือถวายเทียนพันเล่ม และชาวบ้านจะไปหาต้นสนมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำมามัดรวมกันเป็นต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 2.5-3 เมตร แห่งไปถวายวัดด้วยความรื่นเริงเฉลิมฉลอง พร้อมกับจุดไฟต้นสน เพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างนิมิตหมายและความเป็นศิริมงคลให้แก่ชีวิตที่โชติช่วง งานประเพณีนี้ มีเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแห่งเดียวเท่านั้น - "วันกอยจ้อด"คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี "ถวายไม้เกี๊ยะ" โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ(สนภูเขา) มามัดรวม กันเป็นต้นสูงประมาณไม่ต่ำ กว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไม่ต่ำกว่า 30 เซ็นติเมตร แล้วนำเข้าขบวน แห่ประกอบด้วย ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัดเป็นอันสิ้น สุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต ตลอดระยะเวลา ของการจัดงานตั้งแต่แรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้งและจุดเทียน หรือประทีปโคมไฟไว้ตลอดเวลา ในช่วงเทศกาลจะมีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น ฟ้อนโต ฟ้อน รูปสัตว์ต่าง ๆ ฟ้อนก้าแลว(ฟ้อนดาบ) เฮ็ดกวาม ฯลฯ ตามถนนหนทางและบ้าน เรือน ต่าง ๆ เป็นการละเล่นที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่าสัตว์โลก และสัตว์หิมพานต์พากันรื่นเริง ยินดีออกมาร่ายรำเป็นพุทธบูชารับเสด็จ สอบถามรายละเอียด - เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 2615, 0 5361 2016, 0 5361 1589 - การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 2982-3

แท็ก พม่า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ