กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน
“ไม่มีประเทศใดในโลกจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากประชากรในประเทศนั้นๆ ยังมีสุขภาพพลานามัยไม่ดีพอ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงมิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งมวล” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานรางวัลมหิดล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พ.ศ.2540 จากพระราชดำรัสน้อมนำมาสู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รับสนองใส่เกล้าฯ รณรงค์การมีสุขภาพดีอันเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตประการหนึ่งของประชาชน ภายใต้โครงการวิจัยสุขภาพ มสธ. (Thai Health-Risk Transition : a National Cohort Study) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก Wellcome Trust แห่งสหราชอาณาจักร และ NHMRC ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพระดับนานาชาติ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2548-2552)
รองศาสตราจารย์ ดร.สำอาง สืบสมาน หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพ มสธ. เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสุขภาพของคนไทย จากอดีตที่มักเป็นโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อ แต่เมื่อวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป โรคต่างๆ ก็พัฒนาเป็นเงาตามตัว กลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะเสื่อมสังขารก่อนวัยอันควร เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็งชนิดต่างๆ หรือแม้แต่โรคอ้วน ที่คนไทยกำลังประสบอยู่มาก
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยก้าวไปสู่ภาวะเสื่อมสังขารดังกล่าว ก็เช่นต้นทุนชีวิตต่ำที่ทำให้เลือกบริโภคไม่ได้ หรือแม้คนมีอันจะกิน แต่กลับมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องก็มีความเสี่ยงไม่น้อย นอกจากนี้ ในแง่วิถีการดำเนินชีวิตที่อาศัยเครื่องอำนวยความสะดวก ขาดการออกกำลัง หรือแม้แต่ห่วงโซ่อาหาร ที่อาจมีสารปนเปื้อน หรือการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างการใช้ชีวิตอย่างขาดความระมัดระวัง การเกิดอุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับโครงการวิจัยสุขภาพ มสธ. ได้เริ่มวิจัยหาสาเหตุของความเสื่อมสังขาร มาตั้งแต่ปี 2548 โดยในระยะแรกใช้กลุ่มประชากรนักศึกษา ของ มสธ กว่า 200,000 คนทั่วประเทศ ที่ต่างมีช่วงวัย และพฤติกรรมการกินอยู่ ที่แตกต่างกันตามแต่ละภาค ลักษณะงานวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลด้วยการตอบแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ถาม-ตอบด้านสาธารณสุขมูลฐาน ลักษณะการดำรงชีวิต และคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับโรคประจำตัว และดัชนีความสุข ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างตอบกลับมาทั้งสิ้น 87,134 ราย อายุเฉลี่ย 30.5 ปี แยกเป็นชายร้อยละ 46 และหญิงร้อยละ 54
“เราวิเคราะห์พบว่าในกลุ่มตัวอย่าง 80,000 กว่ารายทั่วประเทศ มีปัญหาด้านสุขภาพรูปแบบเดียวกันทั้งชายและหญิง คือภาวะไขมันในเลือดสูง ข้ออักเสบ และประวัติการเป็นไข้เลือดออก แต่ถ้าแยกกลุ่มผู้ชาย ก็พบว่าเป็นน็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับตับ ขณะที่กลุ่มผู้หญิง จะพบโรคคอพอก และหอบหืดจำนวนมาก ”
นอกจากนี้ การศึกษายังสะท้อนถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสื่อมสังขาร โดยร้อยละ 50-55 บริโภคอาหารประเภททอดไขมันสูง บ่อยถึง 3-6 ครั้ง/สัปดาห์ รองลงมาคือน้ำอัดลม อาหาร/ขนมหวานมีกะทิ อาหารปิ้ง/ย่าง/รมควัน
ที่น่าเป็นห่วง คือแม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไม่ได้อาศัยอยู่ในตัวเมือง หรือจังหวัดใหญ่ๆ แต่กลับพบว่า นิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบตะวันตก ไม่แพ้คนเมือง ลึกลงไป บางคน ยอมรับว่าทานเกือบทุกวัน เพราะสะดวกรวดเร็วและง่าย อาหารที่เคยทำกินกันเองในครอบครัว ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐาน ที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ก็ลดน้อยลง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อย ต้องตกทาสของโรคเบาหวาน โรคไขมันเลือดสูง และมะเร็งชนิดต่างๆ มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สำอาง ยังระบุว่า นอกจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว ที่น่าสังเกตคือ มีการรายงานถึงการถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 0.4 แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ก็สะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตมากถึง 5 เท่า ลองคิดเล่นๆ ถ้าประชาชนคนไทยในวัยทำงาน 30-40 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง อนาคตประเทศไทยจะน่าเป็นห่วงแค่ไหน จึงเป็นคำถามว่าหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลด้านสวัสดิการ และความปลอดภัยในชีวิตควรจะหันมาดูแลให้คนไทยอยู่ดี และมีสุข
ขณะนี้งานวิจัยกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งหวังผลเชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 8 หมื่นราย ที่วันนี้กลายเป็นสมาชิกของโครงการวิจัยสุขภาพ จะร่วมกันดูแลตนเองเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคเสื่อมสังขารก่อนวัยอันควร และจะเป็นกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่มีสุขภาพดีห่างไกลโรคที่ใช้บริบทของไทยเป็นตัวศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราหวังที่จะนำผลที่ได้ไปเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยกำหนดนโยบายหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพคนไทยต่อไปในอนาคต
อนึ่ง การวิจัยแบบโคฮอร์ท (Cohort Study) เป็นการศึกษาวิจัยโดยติดตามกลุ่มสมาชิก ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนาน ดังอย่างตัวของเมืองแฟรมิงแฮม รัฐเมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มทำงานวิจัยด้านสุขภาพของชาวเมือง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 และยังคงศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการศึกษาสาเหตุและการป้องกันโรคหัวใจของชาวเมืองแฟรมิงแฮม จนค้นพบปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน และนับเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บด้วยตนเอง
โครงการวิจัยสุภาพ มสธ. จึงเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 8 หมื่นคนทั่วประเทศ ที่เห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดโรค และการป้องกันตามบริบทและวิถีชีวิตแบบไทย ขณะนี้สมาชิกโครงการฯ ได้ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามกลับมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มสธ.จึงใคร่ขอความกรุณาสมาชิกช่วยส่งแบบสอบถามกลับมายังโครงการฯ สำหรับผู้สนใจสามารถหาความรู้เพิ่มเติมโครงการดังกล่าว ได้ที่เว็บไซต์ http://www.stouchort.com
หมายเหตุ : ติดต่อ รองศาสตราจารย์ ดร.สำอาง สืบสมาน โทร.02-504-7780
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน จำกัด
เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร : 089-448-9582 หรือ
งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นฤมล ปัทมพันธ์ (น้อง) โทร : 02-503-3641