กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ก.ไอซีที
ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิธีการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หากแต่ยังไม่มีกฎหมายใดใดที่ใช้ควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีทั้งสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญัญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับจากวันประกาศ คือ ตั้งแต่วันพุธที่ 14 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
การออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ คือ รักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความเชื่อถือและการยอมรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ส่งเสริมการใช้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจหรือการให้บริการของภาครัฐ โดยได้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
“ในส่วนของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการต่างๆ ตลอดจนติดตามดูแลให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งดำเนินการใดใดในกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งความร่วมมือและการประสานงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการฯ กับธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว” ดร.มั่น กล่าว
ด้าน ดร.ฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเภทของธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic payment (e-Payment) ที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะประกอบด้วยธุรกิจ 8 ประเภท ได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการเครือข่ายบัตรเครดิต บริการเครือข่ายอีดีซี บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน บริการหักบัญชี บริการชำระดุล บริการรับชำระเงินแทน และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผ่านเครือข่าย ซึ่งรูปแบบในการควบคุมดูแลธุรกิจ e-Payment เหล่านี้ จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ การแจ้งให้ทราบ การขอขึ้นทะเบียน และการขอรับใบอนุญาต โดยจะพิจารณาจากความเหมาะสมในการป้องกันความเสียหายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีทั้งการส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและการยอมรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งความเสียหายต่อสาธารณชน ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายนั้นจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น และไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ภาคธุรกิจ
“พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ e-Payment ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 แต่ถ้าประสงค์จะทำธุรกิจ e-Payment ต่อไป ผู้ให้บริการจะต้องยื่นแบบแจ้งให้ทราบ หรือขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ -16 มีนาคม 2552 ซึ่งหากพ้นจากวันดังกล่าว (13 พฤษภาคม 52) จะไม่สามารถให้บริการต่อไปได้” ดร.ฉิม กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงไอซีที และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการวางแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการประกาศและบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาฯ การจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบคุมดูแลธุรกิจดังกล่าวจากผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงินในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 และจากสถาบันการเงินในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ตลอดจนการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยได้อีก 1 สัปดาห์ภายหลังการจัดประชุมชี้แจงฯ ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป
สำหรับผู้ให้บริการที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมประชุมได้ที่ ฝ่ายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 02-283-6116 หรือ e-Mail : epayment@bot.or.th
ผู้ส่ง : ทวิติยา
เบอร์โทรศัพท์ : 02 568 2453