กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--เอดีทูวายด์ คอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส
“ฟัน คาแรคเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ผู้บริหารลิขสิทธิ์ “ดิสนีย์” ประเทศไทยประกาศแผนกระตุ้นยอดขายปี 2550 เผยมุ่งออกสินค้าเกาะกระแสเฮลล์ตี้ โฟกัสสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ขยายไลน์สินค้า-นำเข้าของเล่นอีกกว่า 10 แบรนด์พร้อมเดินเครื่องการตลาดย้ำการสร้างแบรนด์ผ่านประสบการณ์ตรง ตั้งเป้าปีนี้ฟันยอดขายทะลุ 7,000 ล้านบาท
นาวสาวอนิษฐ์ฑิตา บัวทรัพย์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท ฟัน คาแรคเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังทรงตัวได้ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ในภาคธุรกิจก็ยังต้องเดินและสร้างอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทจึงได้วางแผนสำหรับกระตุ้นยอดขายสำหรับปีหน้าไว้ในหลายๆประเด็น ประกอบด้วย
1. มุ่งพัฒนาและสร้างการเติบโตในคอนเซ็ปต์ในเรื่องของ Healthy โดยเน้นกลุ่มสินค้าประเภท Food & Beauty ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแม่ของดิสนีย์กำลังตื่นตัวในเรื่องของสินค้าอาหารสำหรับสุขภาพ (Health Food) มากขึ้น โดยในประเทศไทยได้เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปีนี้ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต และมีแผนเพิ่มไลน์สินค้าในกลุ่มนี้กับพันธมิตรต่างๆเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า
2. ให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูงด้วยการเพิ่มสินค้า (Product Line) มากขึ้น อาทิ สินค้าในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น เช่น ทั้มป์ไดร์ซ, เมมโมรี่ สติ๊ค, เครื่องเล่น MP3 ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงมากขึ้นตามเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน
3. พัฒนาสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าดิสนีย์ยีนส์ออกสู่ตลาด สำหรับจับผู้บริโภคในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
4. จับมือกับพันธมิตรผู้นำสินค้าของเล่น นำเข้าผลิตภัณฑ์ดิสนีย์ในกลุ่มของเล่นเข้ามาทำตลาดอีกกว่า 10 แบรนด์
5. พัฒนาตลาดสำหรับตัวการ์ตูน “ดิสนีย์ แฟรี่ส์” คาแรคเตอร์ตัวใหม่ล่าสุดของดิสนีย์ เรื่องราวของภูตน้อยทิงเกอร์เบล กับผองเพื่อนที่มีมนต์วิเศษประจำตัว ในดินแดนมหัศจรรย์ จับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้หญิงอายุ 6-12 ปี เป็นการต่อยอดจากกลุ่มดิสนีย์ปริ้นซ์เซสที่จับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้หญิงอายุ 2-5 ปี รวมถึงการผลิตสินค้าใหม่ๆ ด้วยตัวการ์ตูนจากภาพยนตร์ และภาพยนตร์แอนนิเมชั่นที่มีกำหนดเข้าฉายในปีหน้าอีกถึง 3 เรื่อง ออกสู่ตลาด
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนร่วมมือกับทางห้างสรรพสินค้าสำหรับนำลิขสิทธิ์ของดีสนีย์ไปผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในแต่ละห้างด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และเซเว่น อีเลฟเว่น ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ดิสนีย์เอ็กซ์คูซีฟเป็นยี่ห้อของแต่ละห้างเอง โดยในส่วนของห้าง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ นำไปผลิตเสื้อผ้าสำหรับกลุ่มลูกค้าของบิ๊กซ์โดยเฉพาะ หรือในส่วนของเซเว่น อีเลฟเว่นก็ได้นำลิขสิทธิ์ดิสนีย์ไปผลิตสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
นาวสาวอนิษฐ์ฑิตา กล่าวต่อไปว่า นอกจากแผนงานในส่วนของการสร้างสินค้าแล้ว บริษัทยังได้วางแผนด้านการตลาดเพื่อมุ่งเน้นในด้านการสร้างแบรนด์และยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ผ่านประสบการณ์ของผู้บริโภคโดยตรง (Brand Experience) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ 1. ผ่านกิจกรรมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Entertainment Marketing) และ 2. การสร้างบรรยากาศ ณ จุดขาย ( Shopping Environment) พร้อมทั้งสร้างกระแสด้วยการทำ Co-Promotion กับพาร์เนอร์ในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับช่องทางการขาย บัตรเครดิต รวมถึงคอนซูเมอร์โปรดักส์ค่ายต่างๆที่ต้องการนำลิขสิทธิ์ดิสนีย์ไปทำโปรโมชั่น
และเพื่อเป็นการสร้างกระแสของดิสนีย์ให้อยู่ในใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังได้ลงทุนกว่า 5 ล้านบาทสำหรับจัดกิจกรรม Disney Happy Fantasy 2006 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 4 ปี ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2549 — 15 มกราคม 2550 เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยทางศูนย์การค้าฯ สนับสนุนพื้นที่ในการจัดงาน ประมาณ 1,000 ตารางเมตร รวมมูลค่า 7 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณ Universal , U-Court และบริเวณ Celestrail
ไฮไลท์ของงานจะประกอบด้วยกิจกรรม Disney Happy Fantasy Light & Sound Show การแสดงหุ่นจำลองตัวการ์ตูนดิสนีย์พร้อมเทคนิคเคลื่อนไหวได้ ในรูปแบบการแสดง แสง สี เสียง (Light & Sound ) ที่สวยงาม ตระการตา เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เข้ามาสัมผัสแบรนด์ตามกลยุทธ์ Brand Experience ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้พบกับสินค้าลิขสิทธิ์ดิสนีย์ที่นำมาจำหน่ายในราคาพิเศษร่วม 1,000 รายการ
ทั้งนี้ งานดังกล่าวยังจะได้รับเกียรติจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา ทรงเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดในวันที่ 8 ธันวาคมด้วย
นางสาวอนิษฐ์ฑิตากล่าวต่อไปอีกว่า จากแผนงานดังกล่าวนี้ ทำให้บริษัทเชื่อว่าบริษัทจะมียอดขายในปีหน้าเพิ่มขึ้นอีก 15% หรือมียอดขารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่มียอดขายรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 30% ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีลูกค้า ซึ่งหมายถึงบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหม่เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ (ไลเซ่นส์) เพิ่มอีกกว่า 30 ราย
โดยกลุ่มสินค้าที่มียอดขายสูงสุดคือ กลุ่ม Food Health & Beauty ซึ่งประกอบด้วยสินค้าในกลุ่มอุปโภค-บริโภคทั่วไป มีสัดส่วนประมาณ 70% ตามด้วยสินค้าในกลุ่ม Softline ซึ่งประกอบด้วยสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ ในสัดส่วน 20% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นยอดขายจากสินค้าในกลุ่ม ประดับบ้าน เครื่องเขียน ของเล่น ฯลฯ
“ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้นยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากนัก แต่มีกระทบบ้างในบางตลาด อาทิ ในตลาดรีเทล ซึ่งที่ผ่านมาห้างสรรพสินค้า ดีพาร์ทเมนท์สโตร์มีนโยบายนำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดเองทำให้พื้นที่การขายในส่วนของสินค้าอื่นๆ และสินค้าลิขสิทธิ์ลดลงไปบ้าง ประกอบกับสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือย (ของเล่น, เสื้อผ้า) ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคบ้าง ทำให้บริษัทต้องปรับตัวให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของตลาด” นางสาวอนิษฐ์ฑิตากล่าว
“อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังส่งผลดีต่อบริษัทและทำให้บริษัทมีโอกาสทางการขายมากขึ้นด้วย เพราะเมื่อผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเขาก็จะเลือกสรรลิขสิทธิ์ของค่ายที่มีมีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการทำตลาดมากที่สุดก่อน ซึ่งในประเทศไทยลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ถือว่ามีความนิยมและมียอดขายสูงสุด” นางสาวอนิษฐ์ฑิตา กล่าว และว่า จะเห็นชัดว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายที่เคยซื้อ ลิขสิทธ์หลายค่ายได้หันมาโฟกัสเฉพาะดิสนีย์มากขึ้นแทน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
ผกากานท์ (ลูกหยี) โทร. 0 2910 -7998 หรือ 08-1489-8419
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net