กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--ธนาคารนครหลวงไทย
ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าธนาคารจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ผันผวน แต่ผลจากการเตรียมพร้อมที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินตามกลยุทธ์สำคัญที่กำหนดไว้แต่ต้นปี ทำให้ธนาคารมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และมีผลประกอบดีในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่ธนาคารได้ดำเนินการ มีทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงระบบบริหารจัดการสาขา การเพิ่มและพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างความร่วมมือในการทำธุรกิจกับพันธมิตร ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งสรุปพอสังเขปได้ดังนี้
- ด้านบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญสุดขององค์กร ธนาคารได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความชำนาญ มีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่สำคัญ ให้กับพนักงานในแต่ละระดับอย่างทั่วถึงตามโครงต้นน้ำมืออาชีพ โครงการต้นแบบมืออาชีพ และโครงการต้นฉบับมืออาชีพ รวมทั้งหลักสูตรใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การอบรมด้านการจัดทำแผนธุรกิจ ด้านการบริหาร ด้านการเงิน ด้านความเป็นผู้นำ ตลอดจนด้านการสร้างทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Team Building) เป็นต้น รวมทั้งให้ที่ปรึกษาเข้าทำการปรับปรุงระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อให้สะท้อนค่าตอบแทนของพนักงานยิ่งขึ้น
- ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากการปรับปรุงระบบบริหารงานสาขาโดยจัดแบ่งพื้นที่ใหม่เป็น Cluster 7 แห่ง เพื่อให้การบริหารงานสาขาดำเนินการได้ตามศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ธนาคารได้เปิดสาขาเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนสาขาให้บริการทั่วประเทศแล้วรวม 408 แห่ง มีการติดตั้ง ATM เพิ่ม จนถึง ณ สิ้นกันยายน 2551 มีจำนวน ATM รวมกว่า 1,600 เครื่อง จัดตั้งศูนย์ธุรกิจเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามาใช้บริการ ให้ทีมงานได้ใกล้ชิดและรู้จักลูกค้ามากขึ้น โดยเปิดดำเนินงานแล้ว 2 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ธุรกิจสาขาถนนสุรศักดิ์ 1 จังหวัดชลบุรี และ ศูนย์ธุรกิจสาขาถนนเศรษฐกิจ 1 จังหวัดสมุทรสาคร และกำลังจะเปิดให้บริการอีก 3 ศูนย์ที่สาขากิ่งแก้ว สมุทรปราการ ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ สาขาถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น ในเดือนพฤศจิกายน และสาขาสุราษฎ์ธานี ภายในสิ้นปีนี้
- การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายการตลาด และนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการต่างๆ อาทิ
- ร่วมมือกับคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้บริการทางการเงินพื้นฐานกับสมาชิกของกบข.
- ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ SCIB Direct Debit และการบริหารเงินสดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
- ร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยให้บริการบัตรวีซ่านครหลวงไทย ภายใต้ชื่อ “บัตรเครดิตสวนกุหลาบ” เป็นต้น
- นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า อาทิ
- สินเชื่อเคหะนครหลวงไทย ที่เน้นให้บริการกับกลุ่มลูกค้าที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านแม้มีปัจจัยเข้ามามีผลกระทบ รวมทั้งขยายความร่วมมือแบบครบวงจร (Pre-Post Finance) กับโครงการพัฒนาที่ดินที่ธนาคารเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้
- สินเชื่อบริการเงินออมเพื่อการมีบ้าน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างผลิตภัณฑ์เงินฝากกับสินเชื่อบ้านเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยลูกค้าวางแผนการเงินโดยเตรียมความพร้อมออมเงินเพื่อดาวน์และกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร
- สินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์สินรอการขาย แบบครบวงจร ที่มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าในมหกรรมบ้าน
- บริการ SCIB NGV Loan สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ NGV จากอู่ที่ได้รับมาตรฐานกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ
- เงินฝากออมทรัพย์บุฟเฟ่ท์นครหลวงไทย มอบสิทธิแก่ผู้ฝากในการลุ้นรับทองคำแท่งหนักสูงสุดถึง 100 บาท
- เงินฝากปลอดภาษีดอกเบี้ยสูงแถมโบนัสพิเศษ เมื่อฝากครบกำหนด
- และบริการล่าสุด เงินฝากชื่นใจ 4 เดือน ดอกเบี้ย 4% ซึ่งได้ปิดโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 และได้รับผลตอบรับอย่างดียิ่ง มีลูกค้ารายใหม่เข้าร่วมโครงการกว่า 10,000 รายตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
จากความพยายามในการยกระดับการดำเนินงานที่ผ่านมาในทุกด้าน ทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2551 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถพลิกฟื้นจากผลขาดทุนสุทธิจำนวน 3,514ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปีก่อนเป็นกำไรสุทธิ 3,375 ล้านบาท หรือ กำไร 1.60 บาทต่อหุ้น ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับร้อยละ 11.98 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เท่ากับร้อยละ 1.09 โดยในไตรมาส 3 ปี 2551 มีกำไรสุทธิ 1,177 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 3,962 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสองซึ่งมีกำไร 941 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการกันสำรองฯ ที่ลดลง
รายละเอียดผลการดำเนินงานตามงบการเงินเฉพาะของธนาคารเป็นดังนี้
ผลจากการขยายธุรกิจและบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 22 bps จากร้อยละ 2.88 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 3.10 ในไตรมาส 3 ของปี 2551 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 8,936 ล้านบาท เป็น 9,510 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวนเพียง 517 ล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 665 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เท่ากับ 1,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับเพียงจำนวน 1,629 ล้านบาท และผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.14 ใน 9 เดือนแรกปี 2550 เป็นร้อยละ 15.55 ในช่วงเดียวกันของปี 2551
ขณะที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพียง 6,660 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวนสูงถึง 1,461 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 18 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองด้อยค่าทรัพย์สินและสำรองภาระผูกพันทางการเงินที่ลดลง ทำให้อัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Cost to Income Ratio) ดีขึ้นโดย ลดลงจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 54 ทั้งนี้ กรณีไม่รวมค่าใช้จ่ายทั้ง 2 รายการดังกล่าวข้างต้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ทำให้ธนาคารมีกำไรก่อนการกันสำรองสินเชื่อใน 9 เดือนสูงถึง 5,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,350 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีจำนวนเพียง 3,395 ล้านบาท
ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นกันยายน 2551 ธนาคารมีสินทรัพย์ 414,935 ล้านบาท เป็นเงินให้สินเชื่อร้อยละ 64 หรือเท่ากับ 266,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 จำนวน 15,491 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารมีสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาสแรกซึ่งเพิ่มขึ้นสุทธิเพียงจำนวน 532 ล้านบาท ได้เพิ่มเป็น 4,391 ล้านบาท ในไตรมาสสอง และ 10,568 ในไตรมาสสาม ทั้งนี้ หากบวกกลับด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ได้ขายออกไปจำนวน 1,229 ล้านบาทในไตรมาสสามแล้ว สินเชื่อเพิ่มสุทธิในไตรมาสสามเพิ่มขึ้นถึงจำนวน 11,797 ล้านบาท นอกจากนั้นส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของลูกค้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเพิ่มในระดับร้อยละ 28 ขณะที่ธุรกิจ SMEs เพิ่มร้อยละ 10 ทำให้โครงสร้างสินเชื่อของธนาคารปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 18 สินเชื่อ SMEs เพิ่มจากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 39 ขณะที่อัตราส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อ(Gross NPL) เท่ากับร้อยละ 6.80 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.19 เป็นอัตราส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อหลังหักสำรอง (Net NPL ) ร้อยละ 3.64
ด้านเงินฝากมีจำนวน 351,661 ล้านบาท เป็นเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันรวมกันร้อยละ 30 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio) เท่ากับร้อยละ 76 มีกำไรสะสม 13,312 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 39,014 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 18.47 บาท ธนาคารมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้ต่อ NPL (Loan Loss Coverage) ในระดับร้อยละ 77 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 12.7 โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ถึงร้อยละ 11.5
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
มาลินี กิจพันธ์
โทร. 0-2208-5500