กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ : ความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลี หวังสร้างความตระหนักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน พร้อมเกิดต้นแบบค่ายวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ
วันนี้ (20 ต.ค. 2551) ณ โรงแรมเค ยู โฮม นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวเนื่องในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ : ความหลากหลายทางชีวภาพ ของเยาวชนไทย-เกาหลี ว่า โครงการดังกล่าว วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการ เพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพอย่างดียิ่งของทั้งสองประเทศ ในด้านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ การได้มีต้นแบบของค่ายวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติและการเกิดแนวความคิดของชิ้นงานทางวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ให้แก่ผู้แทนเยาวชนของทั้งสองประเทศ
“การร่วมทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้ชีวิตร่วมกันในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชนและครูของทั้งประเทศไทยและเกาหลี ได้รับทั้งความรู้ ประสบการณ์ และมีศักยภาพที่จะสร้างผลงานวิจัยร่วมกันในระดับชาติและระดับโลก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะทำให้เราทุกคนบนโลก มีการเชื่อมต่อกันด้วยความรู้สึกที่ดีและมีมิตรไมตรีต่อกัน ร่วมมือกันอนุรักษ์ให้โลกใบนี้อยู่ยืนยงต่อไปด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
นายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ฯ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2551 ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช…แหล่งสงวนชีวมณฑลของโลก อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของ วว. โดยมีผู้แทนเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ที่มีความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาจากประเทศไทย 20 คน ประเทศเกาหลี 10 คน รวมทั้งอาจารย์จากประเทศไทย 5 คน และประเทศเกาหลี 5 คน รวมทั้งสิ้น 40 คน
สำหรับกิจกรรมที่เยาวชนไทย-เกาหลีจะทำร่วมกัน ก็คือ การนำเสนอแนวความคิดด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปฏิบัติงานภาคสนาม สร้างผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และใช้ชีวิตร่วมกัน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษและนักวิจัยที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านพืชและสัตว์ เป็นที่ปรึกษาและวิทยากร เพื่อให้เยาวชนและครูของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในท้องถิ่นของตน ตลอดจนถึงการสร้างผลงานวิจัยร่วมกันในระดับประเทศและระดับโลกในอนาคต