กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ฝ่ายสื่อสารองค์กร HMG
ประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ ของเส้นศูนย์สูตร โอบล้อมด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก และทะเลทัสมันด้านตะวันตก ลักษณะประเทศเป็นหมู่เกาะประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ และเกาะเล็กเกาะน้อยอีกจำนวนหนึ่ง เกาะที่เรารู้จักกันดีคือ เกาะเหนือ (North Island) เกาะใต้ (South Island) และเกาะเล็กตั้งอยู่ปลายสุดของเกาะใต้ ชื่อเกาะสจ๊วต (Stewart Island) ถ้ามองดูแผนที่จะเห็นว่านิวซีแลนด์อยู่ใกล้กับประเทศออสเตรเลีย ลักษณะเกาะมีรูปร่างยาวประกอบไปด้วยชายหาดมากมายและทะเลเล็กๆ ที่เรียกว่าฟยอร์ด (Fjord) บางส่วนเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ใช้เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีบ่อน้ำร้อน ภูเขาไฟที่ดับแล้วและยังไม่ดับ บ่อโคลนเดือด บริเวณเทือกเขาสูงมีหิมะขาวปกคลุม พื้นที่ของประเทศนิวซีแลนด์โดยรวมประมาณ 268,680 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่าขนาดของประเทศอังกฤษ หรือญี่ปุ่น มีเมืองหลวงชื่อเวลลิงตัน
ประชากรชาวนิวซีแลนด์ เป็นชนชาติที่โปรดปรานการเล่นกีฬา ทั้งกลางแจ้ง และในที่ร่ม กีฬาที่เป็นที่นิยมก็คือรักบี้ ชาวนิวซีแลนด์ เป็นคนรักธรรมชาติ และตื่นตัว ในเรื่องสภาพแวดล้อม ถึงกับประกาศให้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ประเทศแรกในโลก ประเทศนิวซีแลนด์มีประชากรประมาณ 4 ล้านกว่าคน 74% สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป เช่น อังกฤษ สก๊อตแลนด์ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ 15% เป็นชาวเผ่าเมารี 5% เป็นชาวโพลินีเซียนจากเกาะต่างๆ 4% เป็นชนเชื้อสายจีน และ 1% เป็นชนเชื้อสายอินเดีย ที่เหลือเป็นชนชาติอื่นๆในช่วงที่รัฐบาลสนับสนุน ให้ผู้มีความรู้ความสามารถ อพยพจากประเทศต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศนิวซีแลนด์ได้ ปรากฏว่าชาวเอเชียและโพลินีเซียน ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่มากกว่าชนชาติอื่น นิวซีแลนด์ จึงเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยหลายชาติหลายภาษา
เกาะเหนือ
เมืองสำคัญที่น่ารู้จักของนิวซีแลนด์ประกอบไปด้วย :
โอ๊คแลนด์ (Auckland) เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน เมืองนี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญและเป็นเมืองแห่งการเล่นเรือใบ
แฮมิลตัน (Hamilton) เป็นเมืองที่แม่น้ำไวกาโต้ ซึ่งเป็นแม่น้ำยาวที่สุดในประเทศนิวซีแลนด์ไหลผ่าน และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยไวกาโต้ (The University of Waikato) มีประชากรอยู่ประมาณ แสนกว่าคน
เวลลิงตัน (Wellington) เป็นเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ที่ทำการรัฐบาล สถานที่ราชการ และสถานทูตประเทศต่างๆ จะอยู่ที่เมืองนี้ เป็นเมืองท่าที่เชื่อมระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้ เมืองหลวงนี้มีสมญานามว่า Windy City เพราะมีกระแสลมแรงจากช่องแคบพัดผ่าน
ดะนีดิน (Dunedin) หรือสก๊อตแลนด์แห่งนิวซีแลนด์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะใต้ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของนิวซีแลนด์ คือ มหาวิทยาลัยโอทาโก้ (University of Otago) มหาวิทยาลัยการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของนิวซีแลนด์
เกาะใต้
ไคร้สท์เชิร์ช (Christchurch) เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเกาะใต้ เป็นเมืองอุทยานแบบอังกฤษ มีสวนดอกไม้สวยงาม มีประชากรอาศัยอยู่ราว 3 แสนกว่าคน และเป็นเมืองซึ่งผมกับครอบครัวอยู่ในปัจจุบัน
การปกครองนิวซีแลนด์ปกครองประเทศแบบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา กล่าวคือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีตามลำดับ
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ สำหรับศาสนาอื่น เช่น ยิว อิสลาม ฮินดู พุทธ จะมีศาสนสถานสำหรับบูชาและประกอบพิธีทางศาสนาของตนเองตามเมืองใหญ่ๆ ทุกแห่ง
ประเทศนิวซีแลนด์โดยทั่วไปมีสภาพภูมิอากาศสบายๆ ค่อนข้างเย็นแต่ไม่ถึงกับเย็นจัดจนหิมะตกมากมาย อาจจะมีบ้างเล็กน้อยในบางวัน เกาะเหนือจะมีอากาศอบอุ่นกว่าเกาะใต้ เดือนที่อากาศเย็นที่สุดคือเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ฤดูกาลของนิวซีแลนด์แบ่งเป็น 4 ฤดู คือฤดูร้อนอยู่ในช่วง เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ ฤดูใบไม้ร่วงอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม — พฤษภาคม ฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน มิถุนายน — สิงหาคม ฤดูใบไมผลิอยู่ในช่วงเดือน กันยายน —พฤศจิกายน
เวลาของนิวซีแลนด์เร็วกว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง (ยกเว้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม เขาจะหมุนเข็มนาฬิกาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมงเป็น 6 ชั่วโมง)
ผมกับภรรยาและลูกสาว 2 คน ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ในปี ค.ศ. 2000 โดยเลือกมาอยู่ที่เมืองไคร้สท์เชิร์ชเพราะเป็นเมืองสะอาดน่าอยู่ มีผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีสวนสาธารณะและต้นไม้ที่ร่มรื่นมากมาย และอีกสิ่งสำคัญก็คือ มีโรงเรียนทีมีคุณภาพ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเราคือผมและภรรยาอยากให้ลูกทั้งสองคนได้เรียนหนังสือและเจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เมื่อมาอยู่ไคร้สท์เชิร์ช ผมได้เปิดบริษัทของผมเองชื่อว่า Leading Travel and Education Consultancy ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ภายในประเทศ (Inbound ) รับจัดทัวร์และจองที่พักในนิวซีแลนด์ ขณะเดียวกันก็เป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาและดูแลเด็กนักเรียนที่มาเรียนอยู่ที่ไคร้สท์เชิร์ช หรือที่เรียกกันว่า Guardian เหตุผลที่ต้องมี Guardian ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลนักเรียน ก็เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ที่รับนักเรียนต่างชาติ ( International Student ) เข้ามาเรียนด้วย มีข้อบังคับ ให้นักเรียน ที่มีอายุไม่ครบ 18 ปี จะต้องมีผู้ปกครอง ( Guardian ) เพื่อที่โรงเรียนสามารถติต่อ Guardian ได้ทันทีในกรณีที่นักเรียนมีปัญหาและจะต้องดำเนินการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เช่นในกรณีเด็กไม่สบายที่จะต้องรีบไปหาหมอ เด็กที่ไม่ไปโรงเรียน และโรงเรียนไม่ทราบว่าไปไหน หรือต้องการลายเซ็นของผู้ปกครอง ในกรณีที่โรงเรียน จะต้องพานักเรียนไปทัศนะศึกษา นอกโรงเรียน หรือไป Camp พักแรม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าเป็นนักเรียนนิวซีแลนด์ ทางโรงเรียน จะติดต่อกับผู้ปกครองโดยตรง แต่ถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติ การติดต่อกับผู้ปกครอง อาจมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร ด้านภาษาหลายภาษา และเรื่องเวลาที่แตกต่างกัน ระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นต้องมี Guardian ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองคอยประสานให้ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Guardian มีหลายชาติ ขึ้นอยู่กับนักเรียนว่ามาจากประเทศใด ถ้านักเรียนเป็นเกาหลี Guardian ก็เป็นชาวเกาหลี ถ้านักเรียนมาจากประเทศจีน Guardian ก็เป็นชาวจีน ซึ่ง Guardian จะพูดได้ 2 ภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษาของนักเรียนประเทศนั้น สำหรับผมค่อนข้างได้เปรียบที่พูดภาษาจีนกลางได้เลยดูแลทั้งนักเรียนไทยและนักเรียนที่มาจากประเทศไต้หวัน เพราะตอนเด็กคุณพ่อผมได้ส่งผมไปเรียน High School ที่ปีนัง ประเทศมาเลเชีย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งภาษาจีนกลางและภาษาอังกฤษ ดังนั้นผมจึงค่อนข้างเข้าใจความรู้สึกของเด็กนักเรียน ที่จะต้องมาอยู่ต่างประเทศ เมื่ออายุยังน้อย และต้องมาอยู่กับครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวของเด็กนักเรียนเอง
หน้าที่ Guardian ที่ผมทำคือต้องรับผิดชอบ เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่นักเรียนมาถึงสนามบิน ผมจะไปรับที่สนามบินและพาไปส่งที่ Homestay หรือครอบครัวที่พักของนักเรียน ซึ่งก่อนที่นักเรียนจะมาถึงนิวซีแลนด์ ผมได้มีการติดต่อ สอบถามข้อมูล ของนักเรียนเพื่อที่จะได้หา Homestay ที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดยทำตัวอย่างสอบถามเช่น เด็กนักเรียนชอบสัตว์เลี้ยงประเภท สุนัข แมว หรือไม่ ชอบครอบครัวที่มีเด็กเล็กหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น และในช่วงระหว่างทางจากสนามบินไป Homestay ผมก็จะทำความรู้จักกับนักเรียน ทำให้เด็กสบายใจ และมั่นใจว่า ถ้ามีปัญหาอะไร เขาสามารถติดต่อผมได้ตลอดเวลา ซึ่งผมจะให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ ทั้งที่บ้านและเบอร์มือถือ เพราะช่วงแรกๆ เด็กนักเรียนส่วนมาก จะกังวลเรื่องภาษา และการใช้ชีวิต อยู่กับครอบครัว ดังนั้นผมจะต้องทำให้เด็กทุกคนสบายใจ เด็กจะได้ไม่ท้อ และไม่คิดถึงบ้านมากนัก ซึ่งแน่นอนเด็กจะต้องปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากเดิมใหม่ จากที่เคยมีพี่เลี้ยง ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ ก็จะต้องทำเอง บริหารเวลาเอง เช่นถ้าวันไหนต้องกลับมาทานข้าวเย็นช้ากว่าเดิม เด็กต้องโทรศัพท์แจ้งให้ครอบครัวทราบ เพื่อครอบครัวจะได้เก็บอาหารเย็นไว้ให้และไม่ต้องรอ เพราะคนนิวซีแลนด์ เป็นคนตรงต่อเวลา และการสื่อสาร ภายในของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเด็กจะต้องเรียนรู้ และผมจะต้องสอน ให้เด็กทุกคนรู้จักกฎระเบียบของ Homestay ก่อนที่เด็กจะไปโรงเรียน ผมจะพาเด็กไปจัดการเรื่องซื้อเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน โรงเรียนที่นิวซีแลนด์ ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนใน Year 1-12 ส่วน year 13 บางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียน สามารถแต่งตัวตามสบายได้ เพราะเป็นนักเรียนปีสุดท้าย ของโรงเรียนมัธยมของที่นี่ จึงเริ่มให้นักเรียนได้มีการปรับตัว เป็นผู้ใหญ่ และมีความรับผิดชอบ มากขึ้น เพราะเมื่อจบ Year 13 เด็กทุกคนก็จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยและจบการศึกษาภายใน 3 ปี ถ้าเทียบไปแล้วนักเรียน Year 13 ของนิวซีแลนด์ก็คือนักศึกษาปีที่ 1 ของเมืองไทยนั่นเอง ในวันแรกเมื่อเด็กไปถึงโรงเรียน ผมจะพาเด็กไปพบ คณบดี ที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ (International Dean) เพื่อเด็กจะได้เลือกวิชาที่ตนชอบ และเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในด้านภาษาอังกฤษของเด็กด้วย เพราะก่อนจะมีการเลือกวิชา ทางโรงเรียนได้มีการขอทดสอบ ( Test ) ภาษาอังกฤษกับเด็กก่อน เมื่อเลือกวิชาได้แล้ว ทางโรงเรียนก็จะออกตารางเรียนให้ และเด็กก็จะเริ่มเข้าชั้นเรียน โดยแรกๆ ทางโรงเรียนจะจัดเพื่อนคู่หู ( Buddy ) ซึ่งอาจเป็นเด็กนักเรียนไทย หรือนักเรียนนิวซีแลนด์ ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนว่าจะมีนักเรียนไทยหรือไม่ เริ่มตั้งแต่ Year 9 โรงเรียนที่นี่จะต้องเปลี่ยนห้องเรียนของแต่ละวิชา จะไม่ประจำอยู่ในห้องเรียนเดิม หรือจะเรียกว่าระบบเดินเรียน เมื่อเด็กได้เข้าเรียนและปรับตัวเข้ากับโรงเรียนและครอบครัวได้ ผมก็ยังต้องติดต่อและสื่อสารกับเด็กอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนมากผมจะไปเยี่ยมเด็กที่โรงเรียนในช่วงพักเที่ยงเพราะว่าเป็นช่วงที่หยุดพักนานประมาณ 1 ชั่วโมง ผมก็จะมีการพูดคุยสอบถามทุกข์สุขกับเด็กๆ และเด็กที่มีปัญหาก็จะบอกให้ผมทราบ และเมื่อผมทราบก็จะช่วยแก้ปัญหาให้ อย่างเช่นในกรณีที่เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียนผมก็จะแจ้งให้กับอาจารย์ที่เกี่ยวข้อทราบ หรือหาครูพิเศษสอนให้หลังเลิกเรียนในวิชาที่เด็กต้องการ ในการไปเยี่ยมเด็กแต่ละครั้งที่โรงเรียน บางครั้งผมก็จะซื้ออาหารหรือขนมของเอเชียไปให้เด็กได้ทานกัน เพราะผมเข้าใจดีว่าบางครั้งเด็กๆ ก็เบื่ออาหารเที่ยงที่ครอบครัวจัดเตรียมให้ คือพวกแซนด์วิชหรือขนมปัง ซึ่งคิดแล้วก็น่าเห็นใจเด็กๆ ที่ต้องกินอาหารฝรั่งทุกวัน แต่บางครอบครัวก็ทำอาหารเอเชียให้เด็กนำไปโรงเรียนก็มี อย่างเช่นข้าวผัด หรืออาหารราดข้าว ซึ่งเด็กจะเอาไปอุ่นไมโครเวฟที่โรงเรียน ในยามที่เด็กไม่สบายผมจะต้องพาไปหาหมอและจัดการทำเรื่องประกันให้ เพราะโรงเรียนจะบังคับให้เด็กนักเรียนต่างชาติทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ และประกันชีวิต กับบริษัทประกันภัยในนิวซีแลนด์ ซึ่งประกันนี้จะครอบคลุมในกรณีเด็กทำของหาย หรือของถูกขโมยด้วย นอกจากหน้าที่ที่ผมกล่าวมาในเบื้องต้นนี้แล้ว ผมก็ยังมีเรื่องหน้าที่ที่จะต้องช่วยจัดการให้เด็กๆ ทุกคนอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว ( Pocket Money ) ของเด็กในแต่ละอาทิตย์หรือแต่ละเดือน ซึ่งขึ้นอยู่ว่าเด็กแต่ละคนสามารถ หรือ Control การใช้เงินได้ขนาดไหน โดยผู้ปกครองจะฝากเงินใช้จ่ายไว้กับผมและให้เด็กๆ มาเบิกใช้กับผม
พูดไปแล้วผู้ปกครองนักเรียน ( Guardian ) จะต้องเป็นคนที่เด็กๆ และผู้ปกครองพึ่งได้ ในส่วนของเด็กเขาจะพึ่งเราในกรณีที่เขามีปัญหา มีคำถามขอความช่วยเหลือ และขอคำปรึกษา ดังนั่นเราต้องทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าเราเป็นทั้งพ่อ แม่ และเพื่อน ถ้าเราทำให้เขาเกรงกลัวมากเกินไป เด็กๆ ก็ไม่อยากเข้าหาเรา ดังนั้นเราต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบากับเขาบ้าง ก็เหมือนกับพ่อแม่เลี้ยงดูลูกแหละครับ ส่วนในด้านผู้ปกครองก็จะติดต่อ Guardian เมื่ออยากทราบการเรียน และความประพฤติของลูก ดังนั้นเราก็จะต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา เพื่อผู้ปกครองจะได้สบายใจ หรือมีอะไรที่ต้องแก้ไขเราก็จะร่วมมือกัน
ผมมีความภาคภูมิใจในงานด้าน Guardian ที่ผมทำอยู่นี้เพราะว่าเป็นงานที่ผมได้มีโอกาสช่วยผลักดันให้เด็กนักเรียนทุกคนได้จบมัธยมศึกษาของนิวซีแลนด์ เพื่อจะได้นำวุฒิไปเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนาๆชาติที่เมืองไทย หรือศึกษาต่อ ยังประเทศอื่น รวมทั้ง ที่นิวซีแลนด์ด้วย นอกจากนั้น งานนี้ยังทำให้ผมได้รู้จัก และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากเด็กๆ มากมาย ซึ่งบางคนเรียนจบ และเริ่มทำงานแล้ว เด็กก็ยังมีการติดต่อมาหาผม บางคนพอได้งานก็โทรมาแจ้งให้ผมทราบ บางคนบินมาเยี่ยมเยียนผมที่ไคร้สท์เชิร์ช และอีกความภูมิใจก็คือผู้ปกครองที่ไว้วางใจผม และให้โอกาสผมได้ช่วยดูแลลูกหลานนั่นเอง
ผู้ที่สนใจ
ข้อมูลด้านการศึกษาต่อประเทศนิวซีแลนด์
สอบถาม หรือปรึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่
เจริญชัย แสงอรุณทอง ( อาชัย )
Charoenchai Sangaroonthong ( Chai )
P.O. Box 31296
Christchurch New Zealand
Tel. 009 64 3 357 9132
Fax 009 64 3 357 9133
Mobile Phone 009 64 21 886 886
Email : leading@paradise.net.nz