ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ กันยายน ร่วง เหตุความรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday October 21, 2008 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,221 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 81.1 ปรับตัวลดลง จากเดือนสิงหาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 83.0 โดยได้รับกระทบจากปัจจัยด้านการเมืองที่กลับมารุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนกันยายน ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปทั่วภูมิภาค ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลง จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จึงทำให้ดัชนียอดคำสั่งซื้อ และดัชนียอดขายโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนปริมาณการผลิตในเดือนนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลดีจากด้านราคาน้ำมันที่เริ่มคลี่คลายทำให้ผลประกอบการปรับลดลงไม่มากนัก สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า มีการเพิ่มขึ้นและลดลงในจำนวนกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน ในส่วนของความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างอยู่ที่ระดับ 90.8 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2551 ที่อยู่ในระดับ 89.0 โดยได้รับผลดีจากการเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ที่จะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างแม้ว่าจะไม่ดีเท่าปีก่อนๆ ประกอบกับต้นทุนการประกอบการที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนขนส่ง ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนวัดถุดิบปรับลดลงด้วย ด้านดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมปรับตัวลดลง โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอตัวลง เนื่องจากอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เป็นภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ดังเช่นปัญหาการเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวและรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบกับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกสูง ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับขึ้นเล็กน้อย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับลดลง โดยได้รับผลกระทบจากตลาดในประเทศที่มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในเดือนปัจจุบันลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการปรับลดลงเช่นเดียวกัน ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคตะวันออกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องมาจากยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายจากตลาดต่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า กลุ่มเน้นตลาดส่งออกมีความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอการซื้อสินค้าลง เนื่องจากไม่มีความมั่นใจของผู้บริโภคภายในประเทศต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สำหรับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ พบว่า ปัจจัยทางการเมือง และเศรษฐกิจโลก เริ่มกลับมาสร้างความกังวลต่อการดำเนินกิจการมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาครัฐควรเร่งแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและนักลงทุน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SMEs) พัฒนาแรงงานฝีมือ รวมทั้งเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนอย่าให้มีความผันผวน โดยคงระดับไว้ที่ 33-35 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ