“สถาบันอาหาร” ร้องรัฐเร่งผลักดัน พ.ร.บ. อาหารฉบับใหม่ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้ผู้บริโภค เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน มุ่งไทยเป็น “ครัวของโลก”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 21, 2008 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ เรียกร้องรัฐบาลแจ้งเกิดพระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่ ทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่กำลังดำเนินนโยบายผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศไทยเป็นครัวของโลก หลังกฎหมายฉบับเก่าที่ใช้มานานกว่า 29 ปี ไม่เอื้อต่อการควบคุมและคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งการทะลักเข้ามาของสินค้าอาหารด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ การไม่มีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่มากับอาหาร การโฆษณาไม่ถูกต้องหรือกล่าวอ้างเกินจริง และการที่สินค้าอาหารส่งออกบางชนิดของไทยถูกปฏิเสธการนำเข้า สถาบันอาหาร เชื่อกฎหมายใหม่ส่งผลดีกับทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย ซึ่งถูกใช้มานานกว่า 29 ปี โดยยังไม่เคยมีการปรับปรุงหรือแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือข้อตกลงในระดับพหุภาคี/ทวิภาคี (FTA) ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยในอนาคต ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลง การเรียกร้องสิทธิ การคุ้มครองของผู้บริโภค การเกิดขึ้นของอาหารชนิดใหม่ๆ ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และโรคระบาดต่างๆ ก็กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่เอื้อต่อการควบคุมและคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคทั้งภายใน และภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร “ปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าอาหารด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ผ่านการตรวจสอบ การไม่มีระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่มากับอาหารจนทำให้มีผู้บริโภคเสียชีวิต การโฆษณาอาหารที่ไม่ถูกต้องหรือกล่าวอ้างเกินจริงจนทำให้เกิดการบริโภคที่ไม่ปลอดภัย และสินค้าอาหารส่งออกบางชนิดของไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าเนื่องจากไม่ปลอดภัยในการบริโภค ฯลฯ สาเหตุของปัญหาเกือบทั้งหมดเกิดจากการที่กฎหมายไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ เพื่อเป็นช่องทางดำเนินงานที่ชัดเจนแก่ผู้ผลิต การคุ้มครองผู้บริโภคหรือแม้แต่การให้อำนาจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมายได้ สาระสำคัญของการปรับปรุง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ครั้งนี้ ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และการเพิ่มการยอมรับและลดข้อโต้แย้งในเวทีการค้าโลก โดยการปรับปรุงกฎหมายอาหารให้สอดคล้องกับกติกาสากล และนำระบบเตือนภัยด้านความปลอดภัยอาหารมาใช้” ผอ. สถาบันอาหาร กล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมา เพื่อกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพอาหาร และความมั่นคงทางอาหารที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ รวมถึงอาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ จึงทำให้ อย.ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อาหารใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. ซึ่งหากว่าการพิจารณาพ.ร.บ.อาหารต้องล่าช้าออกไปอีก จะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการแข่งขันทางด้านการค้าระหว่างประเทศ เพราะจะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่มีการจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที สถาบันอาหาร เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กำลังผลักดัน พ.ร.บ. อาหารฉบับใหม่ให้เกิดขึ้น และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคตอันใกล้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของประเทศที่กำลังดำเนินนโยบายผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีเป้าหมายการเป็นครัวของโลก เนื่องจากสาระสำคัญของ พ.ร.บ.อาหารมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการปรับปรุงกฎหมายอาหารของประเทศให้ทันสมัย สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกติกาสากลได้ ซึ่งท้ายที่สุดกฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายที่ดีขึ้นและได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ในขณะที่ผู้ประกอบการก็จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีคุณภาพดีสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้อาหารที่ผลิตและบริโภคในประเทศเป็นอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐานทัดเทียมกับอาหารส่งออก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม 0 2158 9416-8 /0 8 9484 9894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ