สรุปภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรก 2549

ข่าวทั่วไป Friday July 28, 2006 08:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหารัมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่อยู่ในอัตราที่ลดลง ด้านความต้องการของตลาด อสังหาริมทรัพย์บางประเภทยังคงมีความต้องการอยู่มาก ในขณะที่บางประเภทประสบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ความท้าทายที่ผู้ประกอบการประสบในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ ต้นทุนค่าก่อสร้างและราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น กฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ
ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน
ครึ่งปีแรก 2549
จากการสำรวจตลาดบ้านของซีบี ริชาร์ด เอลลิส ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณการเปิดตัวโครงการใหม่และปริมาณความต้องการบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดน้อยลง จากตัวเลขของธนาคารอาคารสงเคราะห์พบว่า จำนวนบ้านจัดสรรและทาวน์เฮ้าส์ที่จดทะเบียนลดลงเหลือเพียง 4,729 หลัง และ 3,049 หลัง หรือ ลดลง 22.6% และ 5.7% ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่บ้านปลูกสร้างเองยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 29.8% คิดเป็น 6,362 หลัง จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ด้านใบอนุญาตก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ ณ ไตรมาสที่ 1 ปีนี้มีปริมาณลดลง 2% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.15 พันล้านบาท ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการมีเพิ่มมากขึ้นเป็น 8.7 พันล้านบาท หรือ 24.3% เมื่อเปรียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 แต่ยังคงน้อยกว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2547 อยู่ 29%
ในด้านอุปทาน ณ ไตรมาส 1 ปี 2549 ปริมาณสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมอยู่ที่ระดับ 60.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รายงานถึงยอดขายที่ลดลง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ราคาบ้านโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 4.5% - 8.0% ต่อปี
ครึ่งปีหลัง 2549
เห็นอย่างได้ชัดว่า สถาบันการเงินต่างมีความรัดกุมมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อและมีการรายงานถึงอัตราการไม่ผ่านการอนุมัติที่เพิ่มมากขึ้น ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดการณ์ว่า ผู้ประกอบการจะเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไปและจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่อหลังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ ทาวน์เฮ้าส์ เป็นต้น ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็มีความระมัดระวังมากขึ้น พยายามที่จะสร้างสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการสร้างเสร็จก่อนขายมาเป็นการเสนอขายก่อนสร้างเสร็จ
ตลาดที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม
ครึ่งปีแรก 2549
ตลาดคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินไปได้ด้วยดีในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ปริมาณคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองอยู่ที่ระดับ 44,295 ยูนิต และมีอัตราการเข้าพักอาศัยสูงถึง 86.3%
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส พบว่า มีการเปิดตัวโครงการใหม่ในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 13 โครงการ คิดเป็น 3,970 ยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นตลาดระดับกลางและเสนอขายห้องขนาดเล็กลง ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 มีโครงการใหม่เปิดตัว 9 โครงการ คิดเป็น 2,696 ยูนิต ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์สครองสัดส่วนการเปิดขายยูนิตใหม่สูงสุดถึง 32% ตามมาด้วยศุภาลัย 20% และ โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ 18% โครงการที่เปิดใหม่ดังกล่าวมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 61% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงปริมาณความต้องการคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองของตลาดระดับกลางที่ยังคงมีอยู่มาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มสูงขึ้นและกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ๆ
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส พบว่า ยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมเอ็มโพริโอ เพลส ที่ตั้งอยู่ในซ.สุขุมวิท 24 สูงถึง 64% หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และสำหรับโครงการมิลเลนเนียม เรสซิเดนส์ @ สุขุมวิท ในซ.สุขุมวิท 16-20 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดขายก่อนเปิดตัวสูงถึง 25%
ครึ่งปีหลัง 2549
จากการที่ต้นทุนด้านการก่อสร้างและราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่ได้ยาก มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่โครงการใหม่เน้นตลาดระดับกลาง และตั้งอยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชน ส่วนความต้องการจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าตลาดนี้จะคำนึงถึงราคาและทำเลที่ตั้งเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดระดับบนจะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง คุณภาพโครงการ และความเชื่อมั่นในผู้ประกอบการ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดว่าจะมีคอนโดมิเนียมราว 4,700 ยูนิตสร้างเสร็จในช่วงครึ่งปีหลัง 6,300 ยูนิตในปี 2550 และอีก 2,300 ยูนิตในปี 2551
ตลาดที่พักอาศัยประเภทอพาร์ตเมนต์
ครึ่งปีแรก 2549
ปริมาณอพาร์ตเมนต์ในย่านใจกลางเมือง ณ ไตรมาสที่ 2 มีทั้งสิ้น 9,920 ยูนิต ลดลงจากปี 2548 33 ยูนิต เนื่องจากบางยูนิตถูกเปลี่ยนให้เป็นเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ในขณะที่จำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในกรุงเทพฯ ณ เดือนพฤษภาคมมี 64,352 คน เพิ่มขึ้น 16.1% ต่อปี
สำหรับอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 90% อัตราค่าเช่าโดยเฉลี่ยสำหรับอพาร์ตเมนต์ระดับเกรดเออยู่ที่ 365 บาทต่อตารางเมตร ต่อเดือน และ 285 บาทสำหรับระดับเกรดบี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้านี้ อพาร์ตเมนต์ระดับเกรดเอบางแห่งที่มีการจัดวางผังห้องอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการออกแบบมาอย่างดี รวมทั้งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยมอาจได้รับค่าเช่าสูงถึง 400-450 บาท
ครึ่งปีหลัง 2549
ความต้องการเช่าอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ จะยังคงมีอยู่มาก เนื่องจากเป็นที่คาดว่าจำนวนชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นในระดับคงที่ราว 8,000 คนต่อปี ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์ใหม่ในตลาดจะเพิ่มขึ้นเพียง 829 ยูนิตในช่วงครึ่งปีหลังนี้จนถึงปี 2552 ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการเข้าพักจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป หากมองในแง่ภาวะการแข่งขันในตลาด ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เชื่อว่า ราว 30%-50% ของยูนิตใหม่ในโครงการคอนโดมิเนียมที่จะแล้วเสร็จในปี 2549-2551 จะถูกนำมาปล่อยเช่า และจะทำให้การแข่งขันในตลาดให้เช่าพักอาศัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น หากอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่ในตลาดไม่ดำเนินการปรับปรุง ก็จะเป็นไปได้ยากที่จะแข่งขันกับห้องชุดในคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ดังกล่าว
ตลาดที่พักอาศัยประเภทเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์
ครึ่งปีแรก 2549
สำหรับตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงโดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 71% เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ในย่านใจกลางเมืองมีปริมาณ 8,768 ยูนิต ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เพิ่มขึ้น 6.4 % เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2548 เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ที่แล้วเสร็จในสองไตรมาสแรกของปีนี้มาจากโครงการ โฮปแลนด์ โซฟิเทล แกรนด์ เรสซิเดนส์ โซฟิเทล เรสซิเดนส์ อโศก ยูนิโก แกรนด์ สาทร เลอบัว แอทสเตท ทาวเวอร์ และ ซอมเมอร์เซ็ต พาร์ค สวนพลูที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่ต่างยื่นขอและอยู่ในระหว่างการรอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อที่จะรักษาลูกค้าที่พักอาศัยระยะสั้นเอาไว้และเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ค่าเช่าโดยเฉลี่ยของเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ระดับเกรดเออยู่ที่ 1,010 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน และระดับเกรดบีอยู่ที่ 700 บาท ณ ไตรมาสสองปี 2549
ครึ่งปีหลัง 2549
จำนวนเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ใหม่จะเพิ่มขึ้นอีก 304 ยูนิตในช่วงครึ่งปีหลัง และเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ในย่านใจการเมืองจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการเช่าเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ยังคงมีมากอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนชาวต่างชาติที่มีอัตราการเติบโตอยู่ตลอด ด้านแนวโน้มราคาค่าเช่าคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักทั้งในระดับเกรดเอและเกรดบี
ตลาดอาคารสำนักงาน
ครึ่งปีแรก 2549
มีอาคารสำนักงานเปิดใหม่รวม 7 แห่งด้วยกันคิดเป็นพื้นที่ 216,116 ตารางเมตร ที่เพิ่มเข้าสู่ตลาดจากเดิมที่มีอยู่ 7,426,452 ตารางเมตร พื้นที่สำนักงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากอาคารเอ็กเชนทาวเวอร์ คิวเฮ้าส์ลุมพินี เดอะคอลัมน์ทาวเวอร์ เซ็นทรัลเพลสปิ่นเกล้า ไอทาวเวอร์(คอมลิงค์) ฟินิกซ์ทาวเวอร์ และศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ อัตราพื้นที่ว่างโดยรวมในกรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 14.1% สำหรับพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอในย่านซีบีดีอยู่ที่ระดับ10.2% ส่วนปริมาณการเข้าใช้พื้นที่สำนักงานในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 125,546 ตารางเมตร
โดยปกติพื้นที่อาคารสำนักงานขนาดเล็กในอาคารระดับเกรดเอมีอัตราค่าเช่าต่อตารางเมตรที่สูงกว่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ค่าเช่าของพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอขนาด 200-300 ตารางเมตรอยู่ที่ 714 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เพิ่มขึ้น 18.5 % ต่อปี และสูงกว่าระดับสูงสุดในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจถึง 36 % (ระดับ 525 บาท) ในขณะที่ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานโดยเฉลี่ยทั้งตลาดทั้งในและนอกซีบีดีปรับตัวสูงขึ้น 14.1% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 629 บาทสำหรับสำนักงานเกรดเอ และ 452 บาทสำหรับเกรดบี
ครึ่งปีหลัง 2549
ตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ โดยรวมจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะภายในสิ้นปีนี้จะมีพื้นที่สำนักงานใหม่เกิดขึ้นเพียง 56,300 ตารางเมตร ในขณะที่ปริมาณการใช้พื้นที่รวมตลอดทั้งปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 250,000 ตารางเมตร และค่าเช่าจะปรับตัวสูงขึ้นแม้ในอัตราที่น้อยกว่าการคาดการณ์ของบริษัทฯในช่วงต้นปี มีสาเหตุจากสภาวะทางการเมืองที่ทำให้ผู้เช่าสำนักงานชะลอการตัดสินใจ แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสำนักงานระดับเกรดเอในย่านซีบีดีจะยังคงเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเพราะไม่มีพื้นที่ใหม่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551
ตลาดธุรกิจค้าปลีก
ครึ่งปีแรก 2549
ตลาดธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ ดำเนินไปด้วยดี ปริมาณพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 2 มีทั้งสิ้น 4.44 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2 % จากสิ้นปี 2548 อัตราพื้นที่ว่างก็ลดลงจาก 5.8 % ณ สิ้นปี 2548 เหลือ 5.4 % ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ตั้งแต่ปี 2548 ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งโดยเฉพาะที่เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดนี้มีการดำเนินการปรับปรุงโดยตลอด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้
อัตราค่าเช่าเริ่มคงที่นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2548 เนื่องจากมีพื้นที่ค้าปลีกใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยอัตราค่าเช่าสำหรับพื้นที่บริเวณชั้น 1 ในห้างสรรพสินค้าในระดับเกรดเอในย่านซีบีดีอยู่ระหว่าง 1,800-3,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน 1,500-2,700 บาทสำหรับย่านรอบนอกใจกลางเมือง และ 1,200-1,500 บาทสำหรับย่านชานเมือง ส่วนค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่รวมกับอาคารสำนักงานอยู่ที่ระดับ 600-800 บาท
ครึ่งปีหลัง 2549
เป็นที่คาดการณ์ว่าอัตราพื้นว่างโดยรวมจะยังคงลดลง เนื่องจากพื้นที่เช่าในเซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปีและร้านค้าพร้อมเปิดให้บริการ การปรับตัวขึ้นหรือลดลงของค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และยอดขายสินค้า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในลักษณะที่มักจะซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้านและข้อกำหนดด้านผังเมือง ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบ
การซุปเปอร์สโตร์หลายรายขยายสาขาในรูปแบบที่ใช้พื้นที่เล็กลง
ตลาดธุรกิจอุตสาหกรรม
ครึ่งปีแรก 2549
ยอดขายที่ดินสำหรับนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 1,210 ไร่ ลดลง 56 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ยอดขายที่ดินดังกล่าวโดยส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 รายได้แก่ อมตะ นวนคร และเหมราช ปริมาณที่ดินอุตสาหกรรมในนิคมโดยรวมเพิ่มขึ้น 1,747 ไร่ เพิ่มขึ้น 1.9 % จากปริมาณที่ดินที่มีอยู่เดิม อัตราพื้นที่ว่างโดยเฉลี่ยยังคงที่ ที่ระดับ 15.8 %
ครึ่งปีหลัง 2549
ธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้น หากนักลงทุนมองเห็นความชัดเจนในเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ความต้องการของตลาดจะยังคงมาจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอิเล็คทรอนิคส์ เม็ดเงินลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นจะยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการปล่อยเช่าโรงงานสำเร็จรูปจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีปริมาณที่ดินอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 900 ไร่
ตลาดธุรกิจโรงแรม
ครึ่งปีแรก 2549
ตลาดโรงแรมระดับหรูในกรุงเทพฯมีผลประกอบการโดยรวมที่ดี มีโรงแรมระดับหรูเปิดใหม่เพียงโรงแรมเดียวในช่วงครึ่งปีแรก คือ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน แบงค็อก ซึ่งมีห้องพัก 543 ห้อง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีโรงแรมระดับหรูและระดับเฟิร์สคลาสถึง 7 แห่งที่ดำเนินการปรับปรุง
อัตราการเข้าใช้ห้องพักของโรงแรมระดับหรูในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 71 % ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 เพิ่มขึ้น 1.4 % ต่อปี ส่วนราคาห้องพักโดยเฉลี่ยในโรงแรมระดับหรูเพิ่มขึ้น 11 % เป็น 143 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 129 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 20.3 % ต่อปีและเพิ่มขึ้น 15.5 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2547 โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสูงสุดนั้นมาจากแถบตะวันออกกลางโดยเพิ่มขึ้นถึง 85.4 % ต่อปี
ครึ่งปีหลัง 2549
ปริมาณห้องพักของโรงแรมระดับหรูและระดับเฟิร์สคลาสในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นอีกราว 1,300 ห้อง คิดเป็น 8.8 % ของปริมาณห้องพักรวมในปัจจุบัน ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการด้านโรงแรมก็คาดว่าตลาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว
ตลาดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทย
ครึ่งปีแรก 2549
แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะไม่แน่นอน แต่ยังคงมีนักลงทุนให้ความสนใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย เห็นได้จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีแรก อาทิ การเข้าซื้ออาคารดีทแฮล์ม โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วยราคา 3 พันล้านบาท การเข้าซื้อหุ้นจำนวน 626.85 ล้านหุ้นของแกรนด์ แอสเสท ดีเวลล็อปเม้นท์โดยเลห์แมน บราเทอร์ส ด้วยราคา 3.03 พันล้านบาท การเข้าซื้อโรงแรมคราวน์ พลาซ่า กะรน บีช โดยลาซาล อินเวสเม้นท์ แมเนจเม้นท์ ด้วยราคา 3.8 พันล้านบาท การเข้าซื้อเลอ รอยัล เมอริเดียน ยอร์ช คลับ โดยพูราวาน่า โฮลดิ้งส์ ด้วยราคา 1.3 พันล้านบาท การเข้าซื้อโรงแรมกะตะ ภูเก็ต โฮเต็ล ด้วยราคา 60 ล้านบาท และ ภูเก็ต ไอร์แลนด์เดีย ด้วยราคา 180 ล้านบาท โดยเซ็นทรัล พลาซ่าโฮเต็ล การเข้าซื้อบลู แคนย่อน คันทรี คลับ โดยดีบี เรียล เอสเตท (ดอยช์แบงค์) ด้วยราคา 2,000 ล้านบาท และ การเข้าซื้อ ชีวา รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยเซ็นทรัลโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ด้วยราคา 350 ล้านบาท
ประเภทของนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถแบ่งออกได้เป็น ผู้ประกอบการชาวไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการชาวไทยที่ธุรกิจเป็นของครอบครัว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน ในอตีตผู้ประกอบการเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ในการปล่อยเช่าเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการดังกล่าวยังให้ความสนใจกับอาคารร้างและที่ดินเปล่าที่มีศักยภาพเพื่อนำมาพัฒนาโครงการใหม่ โดยในช่วงที่ผ่านมา ราคาที่ดินบางแปลงปรับตัวสูงขึ้น 30-50 % เนื่องจากที่ดินในย่านใจกลางซีบีดีที่มีรูปแปลงที่สวยงามมีอยู่อย่างจำกัดมาก
ครึ่งปีหลัง 2549
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดว่าจะมีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปกตินักลงทุนชาวไทยจะให้ความสนใจอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ดีเยี่ยมหลายทำเลด้วยกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะมุ่งเน้นแต่อสังหาริมทรัพย์ในเขตซีบีดีเท่านั้น
ความคิดเห็นโดยสรุป
ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวมจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดปรับตัวดีขึ้น
เกี่ยวกับ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (NYSE:CBG) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการแบบครบวงจร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครลอสแองเจลลิส ให้บริการแก่เจ้าของโครงการ นักลงทุน และผู้ซื้อรายย่อย ครอบคลุมตลาดมากกว่า 350* แห่ง ใน 50* ประเทศทั่วโลก
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เริ่มเปิดสาขากรุงเทพ ฯ ครั้งแรกในปีพ.ศ.2531 และสาขาภูเก็ตในปีพ.ศ. 2547 โดยให้บริการด้านการเป็นตัวแทนในการซื้อ ขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ อาคารสำนักงาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอุตสาหกรรม โรงแรม ที่ดิน และให้บริการด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งรวมถึง การให้บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การวิจัยตลาด และการประเมินราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังให้บริการในด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรฐานในระดับสากล หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการ สามารถเข้าชมได้ที่ www.cbre.co.th
* รวมสำนักงานที่เป็นหุ้นส่วน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ