กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สกว.
ไทยยื่นข้อเสนอให้โลกเศรษฐกิจพอเพียงแก้วิกฤติ 13 นักคิดระดับโลกเห็นด้วย นักวิชาการและเอกชนไทยมั่นใจ ศก. พอเพียงคือคำตอบ นายกฯ ภูฏานหนุน ถ้าทำได้ ไทยคือผู้นำ
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 บริษัท ดีแทคและโตโยต้า ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม และสถาบันไทยพัฒน์ จัดแถลงข่าวเปิดบทสัมภาษณ์ “เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” ซึ่งเป็นผลจากการที่โครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคมและสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ได้สัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับนักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกจำนวน 13 คน โดยมี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บจ. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สนับสนุนการแผยแพร่
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการสัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ และผู้มีชื่อเสียงระดับโลกถึง 13 คน และรวบรวมเป็นบทความไว้ที่เดียวกันจำนวน 12 บทความ เป็นการยื่นข้อเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โลก
ตัวอย่างบุคคลที่ทางโครงการฯ สัมภาษณ์ ได้แก่ ศ.ดร. วูล์ฟกัง ซัคส์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศเยอรมนี ให้ความสนใจการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมาก และมองว่าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้ อีกทั้งมีแนวคิดผลักดันเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในเยอรมนี
นอกจากนี้ยังมี ศ.ดร.อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1998 ซึ่งมองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใชข้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้และความร่ำราวย แต่ให้มองที่คุณค่าของชีวิตมนุษย์
ด้าน ฯพณฯ จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน ได้ให้ทัศนะว่า หากประเทศไทยกำหนดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระระดับชาติ และดำเนินตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง “ผมว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ในประเทศ แต่จะเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ไทยก็คือผู้นำ”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และผู้นำระดับโลกพบแล้วว่า ความรู้และอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้วได้เป็นพลังขับเคลื่อนโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว และถึงขณะนี้เราเห็นแล้วว่า โลกเกิดความไม่สมดุลอย่างรุนแรง แสดงว่าความรู้ไม่สมบูรณ์ และเทคโนโลยีที่อุตสาหกรรมใช้ก็สร้างการบริโภคพลังงานมากจนเกิดความไม่สมดุล เกิดปัญหาโลกร้อน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ความไม่สมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีคำถามว่า เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ความรู้อะไร วิธีคิดแบบไหน ที่จะทำให้โลกอยู่รอดได้
ดร.สีลาภรณ์กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีมากด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงสร้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น และบอกด้วยว่า ต้องมุ่งเข้าหาความพอประมาณ มีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันเป้าหมายนี้ยังเป็นทั้งวิธีการ และวิธีคิดด้วย แล้วเราต้องคิดต่อว่า จะทำอย่างไร เราต้องการการถกเถียงในระดับโลกเพื่อตกผลึกว่า วิธีคิดแบบไหน ความรู้แบบไหน ที่จะผลักดันความก้าวหน้าของโลกศตวรรษใหม่ เพราะโลกมาถึงทางตันแล้ว
“เราสนับสนุนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความเชื่อที่ยืนยันได้ว่า น่าจะเป็นคำตอบของโลก ถ้าจนแต้มแล้วเขาจะเห็นว่า ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณ ความสมดุลต้องเกิดขึ้นแน่ สกว.และคณะวิจัยเชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือคำตอบ และคงมีการยืนยันมากขึ้นเรื่อยๆ” รอง ผอ. สกว. กล่าว
ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.) กล่าวว่า วิกฤติทุกครั้งมีพื้นฐานมาจากความโลภ เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและวิชาเศรษฐศาสตร์สอนให้มนุษย์แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด และการผลิตเป็นสิ่งที่ดีเพราะก่อให้เกิดรายได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้สอนคือ ยิ่งผลิตมากยิ่งก่อให้เกิดของเสียมาก และยิ่งผลาญทรัพยากรในอัตราเร่งมากขึ้น พร้อมกับย้ำว่า “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต้องเน้นที่ความพอเพียงกับคุณธรรมอันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ซึ่งเป็นสองสิ่งที่สำคัญ แต่คนไม่ค่อยพูดถึง”
นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าว่า ดีแทคได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าสู่ชุมชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การให้บริการทางด่วนข้อมูลการเกษตร ผ่านบริการ *1677 ซึ่งให้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านการเกษตรทาง SMS ฟรีทุกวัน และให้เกษตรสอบถามข้อมูลหรือฝากถามปัญหาไปยังปราชญ์ชาวบ้านได้ทั่วทุกภูมิภาค พร้อมกับรวบรวมรู้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ด้วย
**(ผู้สนใจอ่านบทสัมภาษณ์นักคิดทั้ง 13 ท่าน ติดตามได้ที่เว็บไซต์ของ สกว. www.trf.or.th)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
งานสื่อสารสังคม สกว.
โทร. (02) 278-8298 (ฉัตร์ทิพย์)