กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
คณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือข่ายองค์กรพันธมิตรป่าชุมชนและองค์กรเครือข่าย 40 องค์กร และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาระดับชาติ "ป่าชุมชน ความมั่นคงแห่งชาติและ ความเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน" ขึ้น ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก
นายพัฒน์ ขันสลี ประธานคณะทำงานพัฒนาสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำบทบาทสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทยต่อสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ บทเรียน องค์ความรู้การจัดการป่าไม้ในวิถีชีวิตไทยภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสมัชชาป่าชุมชนกับภาคีความร่วมมือต่างในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม และเพื่อเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมของสมัชชาป่าชุมชนครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ภาพความร่วมมือจากหลากหลายภาาคส่วนมากยิ่งขึ้น ที่เข้ามาร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศ
ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง "ป่าชุมชน คนพอเพียง กับการลดภาวะโลกร้อน" โดย ผศ.ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แผนงานสนับสนุนความร่วมมือในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ณ วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึก และเชื่อว่าการรักษาวัฒนธรรมช่วยชาติได้ จากหลักคิดนิเวศวิทยาภูมิทัศน์ โดยเฉพาะภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ สะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ โดยเรียนรู้จากคำว่า "พอ" แล้วชุมชนกลับไปรักษาป่า สร้างรูปธรรมการจัดการป่าที่ชัดเจนทั่วประเทศ ที่เปรียบเหมือนโอเอซิสทางระบบนิเวศ จากตัวอย่างป่าผืนเล็กๆ เช่น ป่าหัวไร่ปลายนา ก็เป็นที่อยู่ของสัตว์ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดการสร้างทางเชื่อมต้นไม้เพื่อเป็นเสมือนหินก้าวกระโดดให้สิ่งมีชีวิตได้เคลื่อนย้าย และมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ต้นไม้หลังบ้านเพียง 1 หรือ 2 ต้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกสิ่งมีชีวิต
ด้าน ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเวทีอภิปรายเรื่อง "บทบาทป่าชุมชนกับความมั่นคงของวิถีชีวิตคนท้องถิ่นในสถานการณ์ปัจจุบัน" ว่า ป่าชุมชนเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปจับจ่ายใช้สอยทุกสิ่งทุกอย่างได้จากที่นั่น หากแต่การใช้สอยนั้นต้องอยู่ภายใต้ความพอดี พอเพียง ซึ่งป่ามีความสัมพันธ์ กับชุมชนอยู่ 8 ประการ แบ่งเป็น ปัจจัยด้านบวก 4 อย่างคือ เป็นแหล่งอาหาร รายได้ สิ่งแวดล้อม และการสร้างความสามัคคีของชุมชน ปัจจัยด้านลด 4 อย่าง คือ สามารถลดการเดินทาง ค่าขนส่ง ลดปัจจัยด้านเวลา ลดโลกร้อน ลดปัญหาสังคม รัฐจึงควรทำ 4 อย่าง 1) ชาวบ้านต้องแย่งชิงพื้นที่ป่าชุมชนจากรัฐให้เป็นของชุมชนให้ได้ 2) รัฐจะต้องสนับสนุนการมีกรรมสิทธิในป่า 3) รัฐจะต้องเข้าใจ และยอมรับว่าป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่หลากหลาย และ 4) รัฐต้องยอมให้รัฐท้องถิ่นสามารถเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายได้เช่นกัน ทั้งนี้ในสถานการณ์ด้านการเมืองของไทยก็ดูเหมือนจะแตกแยก เศรษฐกิจก็ทำท่าจะแตกเช่นเดียวกัน เราจะปล่อยให้สังคมล่มสลายอีกไม่ได้ ดังนั้นเราต้องถอยที่มั่นมาอยู่ที่ชุมชนซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญ และเมื่อกล่าวถึงชุมชน ต้องกล่าวถึงป่าชุมชนที่เราใช้ พึ่งพิงป่ามาโดยตลอด ดังนั้นการดูแลรักษาป่าในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและรัฐต้องหันมาใส่ใจให้มาก
ด้านนายวิสูตร อยู่คง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี มีความเห็นว่า กรณีป่าชุมชนซึ่งมีอยู่หลายร้อยแห่งในประเทศนั้น มีหลายพื้นที่ที่พัฒนาก้าวหน้าเข้มแข็ง แต่ก็มีบางพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งกระทั่งไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคนชายขอบมีระบบการจัดการดูแลรักษาป่าได้ดีกว่าคนที่อยู่ห่างออกมาจากชายขอบออกไป อีกทั้งยังสามารถรักษาป่าให้สมบูรณ์ คงอยู่ ก้าวหน้าและคนในชุมชนมีความรู้เท่าทัน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากนี้คนที่อยู่กับป่าชุมชนเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งปัน ประนีประนอม และมีระบบควบคุมโดยสังคมของชุมชน อีกด้วย
ด้าน อาจารย์ฉลาดชาย รติมานนท์ นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง และอนาคตยิ่งน่าเป็นห่วง ฉะนั้นการจะเอาพืชและผลผลิตทางการเกษตร และเศรษฐกิจฐานรากของไทยไปผูกติดกับเศรษฐกิจโลกไม่ได้ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อชุมชนมีอิสระที่จะคิด และเลือกที่จะเป็นได้อย่างแท้จริง และประเด็นสำคัญที่สมัชชาป่าชุมชนจะต้องขับเคลื่อนก็คือการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะเดียวกันจากการถอดบทเรียนจากชาวบ้านที่อยู่กับป่าในด้านความมั่นคงทางอาหารและสวัสดิการท้องถิ่นในระบบนเวศที่หลากหลายนั้น ดร.โสฬส ศิริไสย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยคุณค่าอาหารที่ชาวบ้านรอบๆ ป่าชุมชนรับประทานในปีแรกพบว่าประเภทของอาหารการกินของชาวบ้านมีกว่า 380 -400 กว่าชนิด ซึ่งนับว่ามากกว่าชาวเอสกิโม และในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มาจากป่า และลำห้วย นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารบางประเภทเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุด เช่นหอยคลู้มีธาตเหล็กสูงมาก ผักมันหมู แหล่งอาหารที่ดีของวิตตามินซี อีกทั้งยังพบว่าอาหารที่ศึกษาจำนวน 19 รายการ พบว่า แกงฮังเล มีโปรตีนสูงเกิน 25 เปอรเซ็นที่ร่างกาย เราจึงสนับสนุนให้ชาวบ้านรักษาที่ดิน แม่น้ำ ลำห้วย คลอง ป่า โดยเริ่มต้นจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน และสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องจำให้ขึ้นใจก็คือเศรษฐกิจพอเพียงทุกคนต้องน้อมนำใส่ไว้ในหัวใจให้ได้ เพื่อจะต่อสู้กับความโลภของมนุษย์
ด้าน นางภาคี วรรณศักดิ์ ปราชญ์และผู้นำสตรี แห่งป่าทุ่งยาว อ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวว่า ในชุมชนของตนนั้นมีการรักษาวัฒนธรรมของชุมชน มีการเก็บข้อมูลอาหารจากป่า เพื่อศึกษามูลค่าอาหารจากป่า มีการจดบันทึกราคาอาหารที่มีชาวบ้านนำออกจากป่าทุกวัน เป็นสถิติว่าวันนี้เราเอาอาหารอะไรออกจากป่าบ้าง กี่กิโล ปรากฏว่า 1 ปีจากการที่มีการสำรวจข้อมูลพบว่า อาหารที่ชาวบ้านนำออกมาจากป่ามีมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท เมื่อเห็นภาพเช่นนี้ชาวบ้านจึงเกิดความตระหนักเกิดความรักและหวงแหนป่าชุมชนมากยิ่งขึ้น พวกเขาพยายามสร้างกระบวนการดูแลป่าชุมชนให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชนอย่างเข้มแข็งมากขึ้นและจะไม่ยอมให้รัฐมาประกาศเป็นวนอุทยานทับที่ป่าชุมชนอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (22 ตุลาคม 2551) ยังมีประเด็นน่าสนใจคือการอภิปรายเรื่อง "ป่าชุมชน พืชพลังงาน และความมั่นคงทางอาหารจะไปในทิศทางไหนในสังคมไทย โดยมี ม.ร.ว ดิศนัดดา ดิศกุล ผอ. โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และนายบุญส่ง เกิดกลาง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว.
ข่าวเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-2701350-4