รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าร่วมการประชุมระดับจังหวัดลำปาง โครงการผู้พิทักษ์น้ำบาดาล (Groundwater Guardian)

ข่าวทั่วไป Friday October 24, 2008 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2551 เวลา 09.00 น. นายอนันต์ เกตุเอม รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เข้าร่วมการประชุมระดับจังหวัดลำปาง โครงการผู้พิทักษ์น้ำบาดาล (Groundwater Guardian) และกล่าวต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง คณะเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล คณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะคณาจารย์โรงเรียนในจังหวัดลำปาง และสมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาลจังหวัดลำปาง ณ ห้องเวียงเงิน โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง โดยมี นายอมรพันธุ์ นิมานันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับจังหวัดลำปาง โครงการผู้พิทักษ์น้ำบาดาล (Groundwater Guardian) พร้อมด้วย นายสำเริง สโมทัยผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล ภาค 6 จังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้ง ผศ.ดร.ฟองสวาท สุวคนธ์ สิงหราชวราพันธ์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการเทคโนโลยีน้ำบาดาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีนายวัฒนชัย ทุมโคตร เจ้าหน้าที่บริหารงานช่าง 7 กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการฯ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต หากมีการพัฒนาในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำบาดาล และตระหนักถึงการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านน้ำบาดาลแก่เยาวชนซึ่งจัดได้ว่าเป็นภารกิจพื้นฐานที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเยาวชนเป็นกำลังที่สำคัญของชาติในอนาคต ดังนั้นการมีความรู้พื้นฐานด้านน้ำบาดาล การสามารถเข้าถึงข้อมูลและการมีหน่วยงานให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของเทคโนโลยี จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทำให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ของข้อมูลข่าวสาร ได้สัมผัสด้วยตนเองในเรื่องของเทคโนโลยีน้ำบาดาล อันจะเอื้อประโยชน์ในแง่ของการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาล จึงทำให้โครงการผู้พิทักษ์น้ำบาดาล (Groundwater Guardian, GG) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ ดังนี้ 1. สร้างเครือข่ายเยาวชน ที่เรียกว่า ผู้พิทักษ์น้ำบาดาล หรือ Groundwater Guardian (GG) ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ในลักษณะของเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล 2. สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชนในการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างประหยัด รู้จักอนุรักษ์และรู้จักการพัฒนานำมาใช้แบบยั่งยืนโดยผ่านการอบรม และจัดทำโครงงาน 3. จัดทำฐานข้อมูลคุณภาพน้ำบาดาลใน 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีการดำเนินการของโครงการฯ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การอบรม ซึ่งมีคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาทำการอบรมความรู้พื้นฐานด้านน้ำบาดาล ให้กับสมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาลของจังหวัดลำปาง จำนวน 50 คน ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ขั้นที่ 2 การจัดทำโครงงานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ซึ่งสมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาลได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 ตัวอย่าง จากโรงเรียนและชุมชนที่ใกล้เคียงมาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบคุณภาพพร้อมจัดทำเป็นรายงานและโปสเตอร์ การดำเนินโครงงานอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากอบรม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนละ 5,000 บาท ขั้นที่ 3 สมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาล จำนวน 10 โรงเรียน นำเสนอผลงานในการประชุมระดับจังหวัด คือ งานที่จัดขึ้นในวันนี้ ซึ่งจะมีการแจกประกาศนียบัตรผู้พิทักษ์น้ำบาดาลและทำการคัดเลือกโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด ขั้นที่ 4 สมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาล จาก 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 80 โรงเรียน ประชุมร่วมกันในระดับภาคที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 โดยในวันดังกล่าว โรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกดีเด่นระดับจังหวัดเท่านั้นที่จะได้นำเสนอโครงงานแบบปากเปล่า ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ จะได้นำเสนอในลักษณะโปสเตอร์ นอกจากนั้นจะมีการจัดทัศนศึกษาจำนวน 2 วัน ให้กับโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกระดับจังหวัด รวม 8 โรงเรียน หลังจากดำเนินโครงการผู้พิทักษ์น้ำบาดาล เสร็จครบทุกขั้นตอนแล้ว สมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาลจะมีโอกาสสมัครเพื่อรับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 2 คนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป การจัดประชุมระดับจังหวัดในวันนี้ถือว่าอยู่ในขั้นตอนที่ 3 ของการดำเนินงาน ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานของสมาชิกผู้พิทักษ์น้ำบาดาล จำนวน 10 โรงเรียน โดยนำเสนอทั้งรูปแบบโปสเตอร์และการบรรยาย จากนั้นจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น เพื่อเป็นตัวแทนในการประชุมระดับภาคต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ข่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2299 3965-6 โทรสาร 0 2299 3926 e-mail : prgwater@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ