‘ยูพีเอส’ เผยผลสำรวจ SMEs ในเอเชียยังต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย หลายด้านในอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday May 10, 2006 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
SMEs ทั่วเอเชียแปซิฟิกเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย แต่ยังกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลต่อการเติบโต
SMEs ในเอเชียมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวอย่างมากทางด้านการค้าในเอเชียและตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นในเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของวารสาร “ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์” ฉบับที่สอง พบว่า การดำเนินธุรกิจของ SMEs ในเอเชียระยะยาว ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การขาดแคลนนวัตกรรม บุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทุนในการดำเนินการ
วารสาร “ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์” ฉบับที่สอง ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำองค์กร SMEs ในเอเชียมากกว่า 1,200 คน เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ผลการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้นำองค์กร SMEs คาดว่า ในอนาคตธุรกิจของตนน่าจะมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยส่วนใหญ่คิดว่าจะยังคงจำนวนของบุคลากรเอาไว้เช่นนี้หรืออาจจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในปี 2549 สำหรับ SMEs ในไทย 66% ของผู้ให้สัมภาษณ์ คาดว่าภายในปี 2549 องค์กรของตนน่าจะมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ในขณะที่ 64% ของผู้ให้สัมภาษณ์ คาดว่าองค์กรของตนอาจจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในปีนี้
นอกจากนี้ ผู้นำองค์กร SMEs ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าของทั้งภูมิภาคจะมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีในปี 2549 โดย 70% ของผู้ให้สัมภาษณ์ คาดว่า ปริมาณการค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันจะมีการเติบโตขึ้น และ 71% ของผู้ให้สัมภาษณ์ เห็นว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้
นายฮาลิม เซลามัท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูพีเอส ประเทศไทย กล่าวว่า “วารสาร “ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์” ฉบับที่สอง ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ SMEs และรัฐบาล ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เนื่องจากการเติบโตอย่างมากทางด้านการค้าของประเทศต่างๆ ในเอเชีย และตลาดสำคัญๆ อย่างอินเดียและจีน ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ SMEs มีโอกาสสูงมากที่จะเติบโตต่อไป ดังนั้น ยูพีเอสจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ด้วยการให้บริการโซลูชั่นด้านซัพพลายเชนต่างๆ ตั้งแต่การจัดส่งพัสดุภัณฑ์ ไปจนถึงโซลูชั่นทางด้านการเงิน”
จากผลสำรวจยังพบว่า มีอุปสรรคหลายประการที่ส่งผลต่อความสามารถในการรักษาระดับการเติบโตที่ยั่งยืนของ SMEs ในภูมิภาคนี้ ผู้นำองค์กร SMEs ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเชื่อว่าประเทศของตนมี “ปัจจัยด้านวัตถุ” เช่น สาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการขนส่งและการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม
อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ก็คือ การขาดแคลน “ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ” ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ การสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทุนในการดำเนินการ
สำหรับ SMEs ในไทย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดไว้ พบว่า เกือบทุกปัจจัยมีความสำคัญมากที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในไทย อย่างไรก็ตาม SMEs ส่วนใหญ่ในไทยยังขาดปัจจัยเหล่านี้อยู่ โดยปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันที่ SMEs ในไทยขาดมากที่สุด คือ การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และการมีบุคลากรที่มีความสามารถและตรงตามความต้องการขององค์กร
นอกจากนี้ ผู้นำองค์กร SMEs ยังเห็นว่า SMEs ในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การขาดกรอบกฎหมายที่ชัดเจน ประสิทธิภาพในด้านซัพพลายเชน การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตลาดและการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐ ก็เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กร SMEs ในหลายๆ ประเทศเป็นกังวลเช่นเดียวกัน
วารสาร “ยูพีเอส เอเชีย บิสซิเนส มอนิเตอร์” ฉบับที่สอง ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำองค์กร SMEs ในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ระหว่างประเทศต่างๆ อิทธิพลของประเทศจีนต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค โดยมีประเด็นสำคัญๆ ที่ค้นพบ ดังนี้
1. ผู้นำองค์กร SMEs ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า มีอุตสาหกรรม 4 ประเภท ที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (IT&T) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุด ในขณะที่ SMEs ในไทยเห็นว่า “อุตสาหกรรมด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน” เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อเศรษฐกิจของไทย
2. SMEs ในจีนมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุด ในขณะที่ SMEs ในอินเดียได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบปีต่อปี โดย 90% ของผู้ให้สัมภาษณ์ในไทยเห็นว่า SMEs ในจีนมีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่า SMEs ในไทย
3. มีประเด็นทางธุรกิจ 3 ประเด็นหลัก ที่ทำให้ผู้นำองค์กร SMEs กังวลมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นเรื่องกระแสเงินสดและทุน นโยบายและระเบียบกฎเกณฑ์ของภาครัฐ และการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถ
4. SMEs ในเอเชียส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจผู้ให้บริการทางการเงินของตน โดยเฉพาะ SMEs ในเกาหลี สำหรับ SMEs ในไทย พบว่า 43% ของผู้ให้สัมภาษณ์มีความต้องการการสนับสนุนทางการเงินและการให้เครดิตอย่างต่อเนื่อง โดย 58% ของผู้ให้สัมภาษณ์ เห็นว่าผู้ให้บริการทางการเงินของตนมีความเข้าใจในความต้องการต่างๆ ขององค์กรตน
5. SMEs ในเอเชียมีแผนที่จะเข้าไปทำธุรกิจในจีนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2547 เป็น 31% ในปี 2548 ในขณะที่ SMEs ในไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในจีนเพิ่มขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2547
6. หากพิจารณาในแง่ของการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของลอจิสติกส์และความสามารถในการบริหารจัดการ พบว่า ผู้นำองค์กร SMEs ในฮ่องกงเชื่อว่า บทบาทของฮ่องกง ในเชิงของความเป็นฮับด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ของเอเชียกำลังลดลง
7. ผู้นำองค์กร SMEs ในอินเดียเชื่อว่า อินเดียจะก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับจีนในด้านศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่จะไม่นำหน้าจีน
“ยูพีเอส” เป็นบริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำของโลกในธุรกิจบริการ Supply Chain ที่ให้ บริการหลากหลายครบวงจรที่เชื่อมโยงขับเคลื่อนให้ “สินค้า ข้อมูลและเงินทุน” ไปในทิศทางเดียวกัน บริษัทยูพีเอส มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนต้า มลรัฐจอร์เจีย และมีศูนย์จัดส่งและให้บริการในกว่า 200 ประเทศและเขต การปกครองต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ “ยูพีเอส” ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารของ “ยูพีเอส” ได้ที่เว็บไซต์ ups.com
แถลงข่าวในนาม : ยูพีเอส (ประเทศไทย)
รายละเอียดเพิ่มเติม : อิศวรา ศกุนวัฒน์ ( isavara.sakunwadhana@ogilvy.com )
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด โทร. 0 2205 6610
พงศ์ชยุติ ลดาวัลย์
บริษัท ยูไนเต็ด พาร์เซล ดีลิเวอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด โทร. 0 2712 3090
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ