กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--มูลนิธิเกตส์
นักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาจากทั่วโลกได้รับมอบทุนจำนวนทุนละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อวิจัยโครงการที่ท้าทายและไม่เคยได้รับการวิจัยมาก่อน
มูลนิธิเกตส์ หรือ The Bill & Melinda Gates Foundation ประกาศมอบทุนจำนวน 104 ทุน มูลค่าทุนละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ [ประมาณทุนละ 3,400,000 บาท] แก่นักวิทยาศาสตร์จาก 22 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก สำหรับทำการสำรวจวิจัยวิธีการต่างๆ ที่ท้าทายและโดยส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีการวิจัยมาก่อนเพื่อการพัฒนาสุขภาพโลก (Global Health) การมอบทุนวิจัยนี้เป็นการมอบทุนครั้งแรกในโครงการ Grand Challenges Explorations ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดอุปสรรคในการศึกษาแนวคิดที่มีนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาสุขภาพโลก
การมอบทุนวิจัยในรอบแรกนี้จะกระตุ้นทรรศนะที่สร้างสรรค์ในการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีป้องกันหรือรักษาโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค รวมทั้งการลดการดื้อยา ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนวิจัยเป็นผู้ที่ได้แสดงให้เห็นว่าโครงการของตนอยู่นอกเหนือกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญหากการวิจัยประสบความสำเร็จ โดยได้อธิบายรายละเอียดต่างๆ ภายในใบสมัครจำนวน 2 หน้ากระดาษเท่านั้น
“เราหวังว่าโครงการ Grand Challenges Explorations จะมีกติกาที่เสมอภาคกัน ทำให้ผู้ที่สนใจที่มีแนวความคิดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสามารถประเมินศักยภาพของความคิดของตนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่การพัฒนาสุขภาพโลก” ดร. ทาชิ ยามาดะ ประธานสุขภาพโลก (Dr. Tachi Yamada, President of Global Health) แห่งมูลนิธิเกตส์ กล่าวในการประกาศการมอบทุนวิจัย ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 4 ในโครงการ Grand Challenges in Global Health ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ “งานวิจัยที่นำเสนอเข้ามานั้นดีเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นการยากสำหรับผู้พิจารณาในการคัดเลือกความคิดที่ดีที่สุดเพียงความคิดเดียว จนกระทั่งเราต้องเพิ่มจำนวนการให้ทุนเป็นจำนวนเกือบ 2 เท่าของที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น”
ทั้งนี้ มีโครงการจำนวน 105 โครงการจากประมาณ 4,000 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัย และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ส่งโครงการวิจัย เพื่อให้คณะกรรมการผู้พิจารณามุ่งเน้นที่นวัตกรรมทางความคิดของผู้สมัครโดยไม่มองที่ประวัติ ถิ่นฐาน หรือความมีชื่อเสียงขององค์กร
นักวิทยาศาสตร์ที่ส่งโครงร่างวิจัยเข้าร่วมโครงการมาจากทุกระดับ ซึ่งรวมถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับทุนวิจัยมาก่อน และนักวิทยาศาสตร์ที่นำประสบการณ์จากสาขาอื่นมาประยุกต์ใช้ เช่น สาขาพันธุวิศวกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ทุนวิจัยนั้นยังมอบให้กับมหาวิทยาลัยและองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรอื่นๆ หน่วยงานรัฐบาล และบริษัทเอกชนจำนวน 6 บริษัท
โครงร่างวิจัยที่ส่งมาเข้าร่วมโครงการนั้นครอบคลุมการใช้นวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ “Mosquito Flashlight” เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคมาลาเรียด้วยการส่งคลื่นความถี่รบกวน, เซลล์วัณโรคที่ทำลายตัวเอง, และการศึกษาสมบัติการป้องกันการติดเชื้อในดวงตา (Anti-infective properties) เพื่อช่วยในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่ออื่นๆ โดยตัวอย่างของโครงการที่ได้รับมอบทุนได้แก่:
การเลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการจำกัดโรคติดต่อ:
- ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย จะทำการสำรวจวิธีใหม่ๆ ในการควบคุมไข้เลือดออกด้วยการวิจัยแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติตามธรรมชาติในการจำกัดโรคดังกล่าว
- Suzanne Fleiszig จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ประเทศสหรัฐฯ จะทำการศึกษาการป้องกันตามธรรมชาติของดวงตามนุษย์ เพื่อค้นหาอนุภาคใหม่ๆ ของสารที่ยับยั้งจุลชีพได้มากชนิด (new classes of broad-spectrum anti-microbial agents)
— Elizabeth Sockett จากมหาวิทยาลัยนอททิงแฮม ประเทศอังกฤษ จะทำการศึกษาว่ายาที่ดีที่สุดในการต่อต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาจเป็น “ยาปฏิชีวนะที่มีชีวิต” (Living Antibiotic) ที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (Microorganisms) ที่มีธรรมชาติในการล่าเหยื่อที่มีอันตราย
การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของมนุษย์:
— Leonard Damelin จาก National Health Laboratory Service ในแอฟริกาใต้ จะทำการศึกษาเพื่อพัฒนาแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ผนังช่องคลอดและปากมดลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ
— Yen Wah Tong จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จะทำการวิจัยเพื่อสร้างอนุภาคนาโน (Nanoparticles) เพื่อ “ดูดซับ” ไวรัสต่างๆ ที่โคจรอยู่ในร่างกาย โดยไวรัศจะทำเครื่องหมายไว้ที่อนุภาคดังกล่าว เพื่อเลียนแบบโครงสร้างแบบสามมิติของเซลล์ที่โดยทั่วไปแล้วไวรัสจะพยายามส่งเชื้อเพื่อติดต่อ
— Jord Stam จากมหาวิทยาลัยอูเทรค ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะทำการวิจัยเพื่อสร้างแอนติบอดี้ที่มีคุณลักษณะ “สองด้าน” เพื่อต่อสู้กับเอชไอวี ด้านหนึ่งจะเกาะติดกับเชื้อเอชไอวี ส่วนอีกด้านหนึ่งจะนำเชื้อไวรัสไปเก็บไว้ในเซลล์อย่างปลอดภัย เพราะเป็นเซลล์ที่เชื้อไวรัสไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้
— Sanah Jowhari จากบริษัทไบโอเทคโนโลยี TheraCarb ประเทศแคนาดา จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อจับพิษและกำจัดพิษของอหิวาตกโรคจากร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เป็นที่อาศัยของโรค และหาแนวทางพัฒนาสารที่มีศักยภาพในการเป็นยา (Drug candidate) สำหรับรักษาอหิวาตกโรค
การสำรวจผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายทางสุขภาพโลก:
— Elijah Songok จาก Kenya Medical Research Institute จะทำการศึกษาว่าการต่อต้านทางธรรมชาติต่อเอชไอวีอาจเชื่อมโยงกับเครื่องหมายทางพันธุศาสตร์ (Genetic markers) สำหรับเบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (Type 2 diabetes)
— Huan Nguyen จาก International Vaccine Institute ประเทศเกาหลีจะติดตามการค้นพบที่ไม่ได้คาดหวังไว้ ซึ่งเกี่ยวกับการที่โปรตีนเรืองแสง (Fluorescent green protein) ว่าอาจเป็นพื้นฐานของการคิดค้นวัคซีนสำหรับไข้หวัดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง
การค้นหาสมมติฐานที่ท้าทายองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน:
— Mike McCune จามหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ เสนอว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดต่อเอชไอวีอาจเป็นการที่ไม่ต้องตอบสนองแต่อย่างใดเลย เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ถูกสั่งการให้ต่อสู้กับเอชไอวีเป็นเซลล์เดียวกันกับเซลล์ที่ติดเชื้อเอชไอวี
— Hiroyuki Matsuoka จากมหาวิทยาลัยจิชิ เมดิคอล ประเทศญี่ปุ่น มีความเห็นว่าอาจจะสามารถเปลี่ยนยุงที่ตามปกติจะแพร่เชื้อโรคให้กลายเป็น “เข็มฉีดยาที่บินได้” เพื่อให้ส่งผ่านวัคซีนไปยังมนุษย์ที่ยุงกัด
สามารถเข้าชมรายละเอียดของโครงร่างการวิจัยทั้งหมดที่ได้รับมอบทุนในโครงการ Grand Challenges Explorations ได้ที่: www.gcgh.org/explorations.
เกี่ยวกับ Grand Challenges Explorations
Grand Challenges Explorations เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี ที่มีมูลค่าโครงการ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางด้านสุขภาพโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Grand Challenges in Global Health ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิเกตส์ หรือ The Bill & Melinda Gates Foundation เพื่อให้เกิดการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทางด้านการพัฒนาสุขภาพโลก
ขั้นตอนในการส่งโครงร่างวิจัยเข้าร่วม Grand Challenges Explorations นั้นรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก ใบสมัครประกอบด้วยเอกสารเพียงสองหน้า และไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงร่างการวิจัยที่นำเสนอ การพิจารณาคัดเลือกนั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากมูลนิธิเกตส์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอิสระ โดยการคัดเลือกจะเสร็จสิ้นลงภายในสามเดือนหลังจากการรับสมัครสิ้นสุดลงโดยประมาณ
ทั้งนี้ Grand Challenges Explorations อยู่ระหว่างการเปิดรับโครงร่างการวิจัยเพื่อการมอบทุนครั้งที่ 2 จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ส่วนหัวข้อวิจัยสำหรับการมอบทุนครั้งที่ 3 จะประกาศช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดการสมัครและหัวข้อโครงร่างการวิจัยซึ่งมีทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.gcgh.org/explorations
ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกชีวิตนั้นมีคุณค่าเท่าเทียมซึ่งกันและกัน มูลนิธิเกตส์ หรือ The Bill & Melinda Gates Foundation จึงดำเนินการเพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี ในประเทศกำลังพัฒนา มูลนิธิเกตส์มุ่งพัฒนาสุขภาพของประชากร รวมทั้งช่วยเหลือให้รอดพ้นจากความยากจนและ หิวโหย สำหรับในสหรัฐฯ มูลนิธิเกตส์ให้ความมั่นใจแก่ทุกคนว่าจะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประสบกับความขาดแคลนทางทุนทรัพย์ที่สุด มูลนิธิเกตส์ตั้งอยู่ที่ซีแอทเทิล มีการบริหารงานโดย มร. เจฟฟ์ ไรคส์ ผู้บริหารสูงสูด และ มร. วิลเลียม เอช. เกตส์ ซีเนียร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ตามแนวทางการบริหารของ บิลและเมลินดา เกตส์ และ มร. วอร์เรน บัฟเฟตต์
โปรดติดต่อ: ดร. เพ็ญศรี ทรรศนะวิเทศ 081 810 3151 / pensri_hcc@yahoo.com