กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทยเสพสื่อสนองอารมณ์

ข่าวทั่วไป Friday October 24, 2008 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กระทรวงสาธารณสุข ประชากรไทยร้อยละ 20 มีความเสี่ยงต่อการป่วยทางจิต กรมสุขภาพจิตโดยความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนงเร่งให้ความรู้และรณรงค์การผลิตและเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์ ด้วยโครงการ “รางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต” ประจำปี ๒๕๕๑ เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการลดปัญหาการป่วยทางจิต จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ๑ ใน ๕ หรือร้อยละ ๒๐ ของประชากรไทยมีปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต จากสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม การเมือง จากประสบการณ์ทางตรงด้วยตนเอง และประสบการณ์ทางอ้อมผ่านจากการเสพสื่อทุกชนิด ดังนั้นสื่อมวลชนจึงเป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนรณรงค์ส่งเสริม ให้ความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตต่อสาธารณชนได้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง สื่อประเภทต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ที่มีการนำเสนอเนื้อหาพร้อมภาพประกอบนั้น แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ สร้างความสนุกสนานและความบันเทิงแก่ผู้ชม แต่ล้วนมีอิทธิพลต่อจิตใจต่อผู้รับสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม การผลิตสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ทั้งในด้านเนื้อหาข่าวสารบ้านเมือง ความรู้ ความบันเทิง ละคร ภาพยนตร์ รวมไปถึงบทเพลง ฯลฯ เป็นช่องทางในการช่วยดูแลสุขภาพจิตของผู้รับสื่อได้ นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงที่มาของโครงการรางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตว่า “กรมสุขภาพจิตมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้สื่อสารมวลชนนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในเชิงสร้างสรรค์หรือเชิงบวกสู่ประชาชน โดยเฉพาะการผลิตสื่อที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ต่อสุขภาพจิตของประชาชน เนื่องจากสื่อประเภทต่างๆ ที่ประชาชนในสังคมใช้เป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านความรู้สึกแล้ว ยังทำให้เกิดการซึมซับพฤติกรรมต่างๆ จากสิ่งที่ได้ดู อ่าน หรือฟัง นำมาเก็บไว้ภายใต้จิตสำนึกโดยไม่รู้ตัว” สำหรับโครงการ “รางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต” ประจำปี ๒๕๕๑ ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เพื่อคัดเลือกตัดสินรางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ๔ สาขา ได้แก่ สื่อภาพข่าวหนังสือพิมพ์ สื่อภาพยนตร์ สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ และสื่อละครโทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีต่อผู้ชม ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบของการนำเสนอของสื่อว่า ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง สื่อจะมีอิทธิพลทำให้ผู้ชมหรือผู้รับสารเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ที่มีการนำเสนอภาพการระเบิดรถจักรยานยนต์ จะทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น ซึ่งหากต้องการดึงดูดให้ผู้ชมสนใจกลับมาดูอีก ก็ต้องเพิ่มระดับความรุนแรงของภาพขึ้นเรื่อยๆ จากจักรยานยนต์กลายเป็นรถบรรทุก รถไฟ ตามที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน “ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากผู้รับสารจะ ได้ความสนุก มันส์ สะใจแล้ว ยังทำให้เกิดความชาชินกับภาพที่เห็น และถูกนำออกมาทำเลียนแบบ จนกระทั่งกลายเป็นบุคลิกภาพของตนเอง เนื่องจากภาพที่เห็นบ่อยๆ ถูกเก็บเป็นประสบการณ์ความรู้ที่ผิดอยู่ภายใต้ความจดจำ ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าจะถูกแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงเมื่อไหร่” นพ.ทวีศิลป์กล่าว ผลจากการรับข้อมูลข่าวสารเชิงลบของผู้รับสารที่มีสุขภาพจิตเป็นปกติอาจใช้เวลาในการสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม แต่ในกรณีผู้รับสารที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตนั้น อาจเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบได้ในทันที เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีประเด็นที่มีความต่างจากคนปกติอย่างน้อย 2 ด้าน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า “ประการแรกผู้ที่ปัญหาทางจิตเมื่อพบเห็นภาพความรุนแรง จะเกิดผลกระทบทางใจจะสูงกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากสภาพจิตใจที่มีปัญหาอยู่แล้ว ทำให้ความต้านทาน ภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ อารมณ์น้อยกว่า เมื่อพบเห็นภาพที่รุนแรง จะแสดงออกด้วยการทำเลียนแบบทันที เรียกว่ามีปัญหาพฤติกรรมตามมาได้ง่าย ประการที่ 2 เกี่ยวกับความมีอคติของสังคมต่อตัวผู้มีปัญหาทางจิต เช่น ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องคนที่มีสภาพจิตไม่ปกติ ให้ดูแปลกและน่ากลัว จะยิ่งตอกย้ำในเชิงลบต่อจิตใจของผู้ที่มีปัญหาทางจิต ทำให้เขามีภาพลักษณ์ในสังคมเป็นผู้ที่ดูมีความอันตราย ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดเป็นความเสียใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลกระทบจากสื่อที่เกิดขึ้นต่อผู้รับสารเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ซึ่งจำเป็นต้องเกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และจริงจัง” การผลิตสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตในสภาวะที่วงการสื่อสารมวลชนต้องมีการแข่งขันสูงนั้น ทางนพ.ทวีศิลป์ ให้คำแนะนำว่า “สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกองค์กรมีความรู้ความสามารถในการนำเสนอข้อมูลที่ฉับไวและทันต่อเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติที่ดีที่จะจูงใจให้ผู้ชมอยากติดตามได้ ซึ่งการนำเสนอภาพข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะดึงดูดให้ผู้ชมอยากติดตาม เช่น การสอดแทรกข้อคิดเตือนใจ วิธีแก้ไข เพราะนอกจากจะได้รับสารอย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากได้มองเห็นทางออกของปัญหาอีกด้วย เป็นการยกระดับสุขภาพจิตของผู้รับสารทั้งประเทศได้” โครงการ “รางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต” ประจำปี ๒๕๕๑ จะมีการประกาศผลและมอบรางวัล ในพิธีเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นี้ ณ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยให้ผลงานที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบแก่สื่อมวลชนในการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ๆ ซึ่งในปีนี้ผลงานหลายชิ้นที่ผ่านเข้ารอบมีความน่าสนใจ อย่างเช่นสาขาภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่า แต่ละเรื่องที่ได้รับรางวัลคู่ควรแก่การเก็บสะสมเป็นภาพยนตร์ในดวงใจเลยทีเดียว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ผู้ส่ง : punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ