กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปกำลังจะปรับแก้ไขระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมีประมาณ 500 รายการ และการติดฉลากแสดงความเป็นอันตรายของสารเคมีบนภาชนะบรรจุภัณฑ์ (Directive 67/548/EEC on the approximation of the laws, regulations and administrative provisions relating to the classification, packaging and labeling of dangerous substances) เป็นครั้งที่ 31 ซึ่งเป็นการปรับแก้ไขตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ เพื่อปกป้องอันตรายที่อาจจะเกิดกับมนุษย์ และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น นอกจากผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ REACH ของอียูแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ได้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับกลางปี 2552 โดยระเบียบที่แก้ไขฉบับใหม่ดังกล่าว มีสาระสำคัญครอบคลุมเรื่องสัญลักษณ์ความเป็นอันตราย (Danger symbols) ความเสี่ยงและความปลอดภัยของสารเคมีและสารตั้งต้น (Standard phrases) และ รายงานแสดงผลการทดสอบความเป็นอันตรายของสารเคมีและสารตั้งต้น (Material safety data sheet) ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ปรับแก้ไขประเภทความเป็นอันตราย (Classification) ของสารเคมี และการติดฉลากใน 83 รายการสารเคมีอันตรายที่มีอยู่เดิมตามภาคผนวกของระเบียบ Directive 67/548/EEC เช่น สาร Aluminium lithium hydride จากเดิมจัดอยู่ในประเภทสารไวไฟ (Highly flammable) อย่างเดียว แต่ในการปรับแก้ไขใหม่ สารดังกล่าวจัดเป็นสารกัดกร่อน (Corrosive) ด้วย
2. เพิ่มรายการสารเคมีอันตราย 385 รายการ เช่น สาร Nikel bis (tetrafluoroborate) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogens)
3. ตัดสารเคมีออก 4 รายการ เช่น สาร Sodium dichromate, dehydrate เป็นต้น
ทั้งนี้รายละเอียดในการปรับแก้ไข และรายการสารเคมีอันตรายที่จะปรับแก้ไขข้างต้นสามารถดูได้ที่ http://ec.europa.eu/enterprise/tbt/ อย่างไรก็ดี การปรับแก้ไขระเบียบการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย ภาชนะบรรจุภัณฑ์ และการติดฉลากสำหรับสารเคมีอันตราย (Directive 67/548/EEC) นี้ อยู่ระหว่างการเวียนให้ประเทศสมาชิก WTOให้ข้อคิดเห็น ซึ่งผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งรายละเอียดข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือข้อคัดค้านได้ที่สำนักบริหารมาตรฐานระหว่างประเทศ กลุ่มองค์การการค้าโลก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โทร (02) 2023504 ในฐานะ Focal point ด้านมาตรการทางเทคนิค TBT ของไทยใน WTO
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้ออกระเบียบที่เกี่ยวกับการควบคุมสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนประกอบในการผลิตที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ระเบียบ REACH RoHS และ WEEE เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามความเคลื่อนไหว และปรับตัวในด้านเทคโนโลยีการผลิต และ การออกแบบสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ และความต้องการของตลาดในสหภาพยุโรป เพื่อให้สามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง
อนึ่งไทยส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 5,500 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปทั้งหมด โดยในปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 8,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 4,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 104 สำหรับในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 11,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 110