กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--
ชุมชนบ้านฮ่องอ้อ ต.ท่าช้าง กิ่ง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูน มีอาชีพหลักคือการทำประมงต่างๆ และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติริมชายฝั่ง โดยผู้ชายในหมู่บ้านจะมีหน้าที่หาปลา ส่วนผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้านจะมีหน้าที่หาของป่าเพื่อนำไปขาย
แต่ภายหลังเมื่อสภาพแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากการบุกรุกของนายทุนเข้ามาดูดทรายในลำน้ำมูน รวมไปถึงการสร้างเขื่อนปากมูนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง ตลิ่งและชายฝั่งรวมไปถึงป่าริมแม่น้ำก็พังทลาย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาวะปัญหาที่รายล้อมชุมชนฮ่องอ้อ คนทั้งชุมชนฮ่องอ้อไม่ได้ยอมจำนนต่อชะตากรรม กลับลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและความขัดแย้งในการจัดการแม่น้ำมูนของชุมชนฮ่องอ้อและชุมชนใกล้เคียงเริ่มต้นขึ้นเมื่อชาวบ้านจำนวน 35 คนพากันเดินทางไปดูงานการทำวังปลาซึ่งประสบผลสำเร็จที่บ้านวังยาง ณ แม่น้ำมูน และบ้านแดงหม้อ ณ แม่น้ำชี และได้กลายเป็นแรงบันดาลให้ชาวบ้านฮ่องอ้อเริ่มต้นลงมือทำวังปลาในแม่น้ำมูนอย่างจริงจัง โดยได้ขอความร่วมมือกับชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่งมาร่วมมือกันทำอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้มีได้กินได้จับจนชั่วลูกชั่วหลาน จนกระทั่งมีการทำวังปลาร่วมกันในช่วงปี พ.ศ. 2547
ซึ่งการทำ “วังปลา” ของชาวบ้านฮ่องอ้อ เป็นการดำเนินงานของ “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” ภายใต้ “โครงการฐานทรัพยากรอาหาร” ที่ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าไปร่วมสนับสนุน
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการฐานทรัพยากรอาหารว่า อาหารนั้นถือได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของสุขภาพชีวิต และเป็นฐานรองรับระบบชีวิต ดังนั้นการฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหารขึ้นมาก็เท่ากับว่าเป็นการฟื้นฟูอาหารที่มีคุณภาพขึ้นมา ชุมชนก็จะมีอาหารที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งชุมชนและสังคมโดยรอบ
“ประโยชน์ของการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือครอบครัวเกษตรกรคนยากจนในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเขาเป็นอย่างน้อย เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร ทีนี้ถ้าเราลองนึกดูว่า 50 เปอร์เซ็นต์นี้ ถ้าเค้าสามารถสร้างระบบอาหารขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดภายนอก หรือระบบตลาดขนาดใหญ่ นั้นหมายถึงว่ามันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว” นายวิฑูรย์ กล่าว
ซึ่งในเรื่องนี้ อาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ หัวหน้าโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการดำเนินการและผลที่เกิดขึ้นต่อชุมชนบ้านฮ่องอ้อว่า “เรามีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารของตัวเอง เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมา และในยุคข้าวยากหมากแพงนี้ ชาวบ้านต้องพึ่งพาตนเองได้ เมื่อมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ก็จะสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้องได้ เพราะชาวบ้านแถบนี้จับปลาเพื่อขายและกินเอง เมื่อมีอาหาร มีอาชีพ ชีวิตและครอบครัวก็เป็นสุข เชื่อมโยงกับแนวคิดสุขภาวะที่ดี และโครงการจะสำเร็จได้ชุมชนต้องเข้มแข็ง และประโยชน์ที่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน ซี่งการทำวังปลาทำให้เกิดการร่วมมือกันของคนในชุมชนหลายๆชุมชน”
ด้าน นายนวล สารเพชร ผู้ใหญ่บ้านบ้านฮ่องอ้อ ได้เล่าถึงแนวทางการทำงานของชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาว่า “ได้มีการเรียกชาวบ้าน ครู นักเรียนจากหลายหมู่บ้านมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรได้อย่างถาวร เพราะปัญหาจากเขื่อนและเรือดูดทรายทำให้สัตว์น้ำหายไปจำนวนมากและจากที่ได้ไปศึกษาดูงานการทำวังปลาที่อื่น ก็เห็นว่าได้ผลจริง จึงได้กำหนดเขตทำวังปลาขึ้นมา วิธีการคือนำท่อปูนที่แตกหักไปทิ้งไว้ในแม่น้ำเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหลบภัยของปลา เราทำได้ 2 ปีก็เห็นผลว่ามีปลาเยอะขึ้น ปีนี้เป็นปีที่ 4 มีปลามากมายอย่างเห็นได้ชัด สามารถจับได้ตลอดทั้งปี ทำให้ตอนนี้ทุกคนในชุมชนรู้ว่าวังปลามีประโยชน์จริง มีสมาชิกเยอะขึ้นจาก 20 คนเป็น 80 คน และเชื่อว่าในอนาคตตจะมีปลาเยอะกว่านี้ และชาวบ้านก็จะหวงแหนมากกว่าทุกวันนี้ด้วย”
การทำวังปลาของชาวบ้านฮ่องอ้อและชุมชนใกล้เคียงสองฝั่งแม่น้ำมูน ที่มีระยะทางยาวถึง 700 เมตร นอกจากจะเป็นการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งในแม่น้ำมูลไว้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยไม่ให้ใครเข้ามาบุกรุกทำลายได้โดยง่าย ซึ่งผลที่ได้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจำนวนปลาที่จับได้มากขึ้น พบปลาหลากหลายชนิดมากขึ้นจากแต่เดิมซึ่งบริเวณนี้ไม่เคยมีจับได้มาก่อน
นายกลาง จันทร์สอน ชาวบ้านฮ่องอ้อ ซึ่งประกอบอาชีพทำประมงบอกว่า ตั้งแต่มีการทำวังปลาขึ้นมาชาวบ้านสามารถจับปลาได้มากขึ้น และสามารถจับได้ทุกฤดู นอกจากนี้ยังพบปลาที่ไม่เคยจับได้และได้หายไปจากบริเวณนี้มานานสิบปีอย่าง “ปลากะโห้” อีกครั้ง
“แต่ก่อนมีปลาหลายชนิดแต่พอมีเรือดูดทราย ปลาก็หายหมด วังปลาทำให้แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้น ปลามีจำนวนเยอะขึ้น ชาวบ้านจับได้ตลอด และล่าสุดมีคนจับปลากะโห้ได้ ซึ่งหายไปนานมาก เราก็เลยขอซื้อเขามาเพื่อจะเอาไปปล่อยในเขตวังปลา ปลาจะได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก”
หัวใจสำคัญในการทำวังปลาให้ประสบผลสำเร็จ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความสามัคคีร่วมใจกันที่จะปกป้องทรัพยากรของตนเองที่ตนใช้หาอยู่หากิน ชาวบ้านจึงรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของวังปลา อีกทั้งชุมชนรอบข้าง คือ ชุมชนท่าช้าง ชุมชนปากน้ำ ชุมชนหนองสะโน ก็มาร่วมสร้างวังปลา วังปลาจึงมิได้เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งแต่เป็นของชาวบ้านทุกๆ คน
ซึ่งผลจากการทำวังปลา นอกจากเรือดูดทรายไม่สามารถล่วงล้ำมาละเมิดอาณาเขตได้ และทรัพยากรสัตว์น้ำก็กลับคืนมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ส่งผลดีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนที่เข้ามาช่วยกันปกปักรักษาแม่น้ำมูนให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบต่อไปในอนาคต
“ผลที่ได้ไม่ใช่เพียงแค่ชาวบ้านจะสามารถจับปลาได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นเหมือนแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา อย่างที่เราเห็นบางพื้นที่มีการปล่อยของเสียลงสู่สายน้ำในภาคต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหามาก แต่ชุมชนที่มีวังปลาชาวบ้านก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ชาวบ้านก็ร่วมกันทำเป็นเครือข่ายเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน และจากวังปลาก็ได้ขยายออกไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นการอนุรักษ์พันธ์ข้าวเพราะชาวนาไม่ได้มีชีวิตอยู่กับลำน้ำเพียงอย่างเดียว ก็ต้องมีการปลูกข้าวด้วย และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นความหวังเป็นการจุดประกายสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และท้ายที่สุดก็เป็นความเข้มแข็ง และเป็นความมั่นคงในด้านอาหารของประเทศ” นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหารกล่าวสรุป.
ผู้ส่ง : punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687