กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม
Prime
“ให้ชีวิตวุ่นวายซะบ้าง อย่างน้อยคุณก็ได้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่” — ลิซ่า
Prime คือภาพยนตร์โรแมนติคคอเมดี้ที่เล่าเรื่องราวความรักอลหม่านของคู่รักคู่หนึ่งโดยมีฉากหลังเป็นแมนฮัตตันสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยสีสัน อูม่า เธอร์แมน (Kill Bill Vol.1/2, Pulp Fiction) รับบทเป็นราฟี่ การ์เด็ท สาวทำงานวัย 37 ปีที่จิตใจกำลังย่ำแย่จากการหย่า เธอได้พบรักใหม่กับ เดวิด (ไบรอัน กรีนเบิร์ก จากซีรี่ย์เรื่อง One Tree Hill) จิตกรหนุ่มน้อยวัย 23 ปี ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Prime สำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อรักแรกพบปะทะกับความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ นักแสดงเจ้าแม่ออสการ์ เมอร์รีล สตรีพ รับบทเป็น ลิซ่า เม็ทซเกอร์ จิตแพทย์ที่เข้ามาช่วยบำบัดให้ราฟี่เลิกกลัวการสร้างความสัมพันธ์ แต่บังเอิญเหลือเกินที่คนรักใหม่ของราฟี่กลับกลายเป็น เดวิด ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอเอง ปัญหาก็คือเดวิดและราฟี่อายุห่างกันถึง 14 ปี ปูมหลังก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แถมแม่ของเดวิดยังเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตลูกชายอีกต่างหาก หนังมองความรักของคนเมืองยุคใหม่อย่างตรงไปตรงมา พร้อมสำรวจความตื่นเต้นของการหลงรักใครซักคนอย่างหัวปักหัวปำ และการดิ้นรนเพื่อประคองความสัมพันธ์นั้นไว้ด้วยลีลาสนุกสนาน
ตอนแรก เดวิดและราฟี่ดูเหมือนคู่ที่เหมาะสมกัน ราวกับทั้งคู่ได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายของกันและกัน “เดวิดต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจัง” ผู้อำนวยการสร้าง เจนนิเฟอร์ ทอดด์ กล่าว “เขาเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวตอนคบกับราฟี่ และเขาก็ชอบความท้าทายนี้ ขณะที่ราฟี่เองก็กำลังอยากรักษาแผลใจ เธอปิดกั้นตัวเองอยู่นานหลังจากหย่า และหนุ่มน้อยคนนี้ก็มีเสน่ห์สดใสกระชุ่มกระชวยเหลือเกิน”
“มันเหมือน โรมิโอกับจูเลียต น่ะแหละ เพียงแต่เรื่องนี้ จูเลียตอายุ 37 และโรมิโอก็แค่ 23” เธอร์แมนหัวเราะ “คำถามก็คือ ราฟี่กับเดวิดจะรักกันอย่างจริงจังได้มั้ย และจะอยู่ในระดับเดียวกันได้หรือไม่ แล้วประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันจะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่บ้าง”
แม้ว่าจะปิ๊งกันแบบสุดๆ แต่ไม่นานคู่รักคู่นี้ก็รู้ว่าปูมหลังที่ต่างกัน และ ช่องว่างระหว่างวัยก่อให้เกิดปัญหามากมาย เดวิด คือ จิตกรหนุ่มน้อยรักสันโดษ, นับถือยิว, รักฮิปฮอปเป็นชีวิตจิตใจ และยังอยู่กับพ่อแม่ ขณะที่ราฟี่มาจากครอบครัวแคธอลิกไม่เคร่งศาสนาที่ร่ำรวยแต่แตกแยก และเธอก็อยู่ในโลกอันสับสนยุ่งเหยิงของแฟชั่นระดับโลก ทั้งคู่แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ความพยายามจะเชื่อมความต่างนี้เองที่เป็นแหล่งกำเนิดอารมณ์ขันและซึ้งสะเทือนใจ Prime จึงกลายเป็นเรื่องราวความรักอารมรณ์คนเมืองโดยแท้
เกี่ยวกับงานสร้าง
“เขาอ่อนกว่าฉันตั้งเป็นสิบปี เป็นน้องชายฉันได้เลยนะ” — ราฟี่
“อ่อนกว่าแค่ปีเดียวก็เป็นน้องชายเหมือนกันแหละ” — ลิซ่า
เบน ยังเกอร์ใช้เวลาเขียนบทโรแมติคคอเมดี้เรื่องนี้นานถึง 8 ปี ความจริงเขามีไอเดียเรื่องนี้ก่อนทำ Boiler Room เสียอีก แต่ตอนนั้นยังไม่พร้อมที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับความรัก “Prime เป็นหนังที่เน้นตัวละครมากกว่า Boiler Room ผมก็เลยยังไม่กล้าเขียน เพิ่งมา 3 ปีที่แล้วนี่เองที่ไอเดียนั้นกลับมาอีก”
“Prime จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคน 2 คนตกหลุมรักกันหัวปักหัวปำ แต่แล้วก็รู้ว่าการคบกันนั้นยากกว่าที่คิด” ยังเกอก์กล่าว “หนังยังพูดถึงพัฒนาการของตัวละครแม่วัย 50 ปีคนหนึ่งที่ไม่สามารถให้คำปรึกษาลูกของตัวเองได้อย่างที่ให้คนไข้อีกด้วย”
ผู้อำนวยการสร้างเจนนิเฟอร์ ทอดด์ มองว่า Prime คืออีกหนึ่งโอกาสที่ยังเกอร์จะได้โชว์ฝีมือในฐานะมือเขียนบทและผู้กำกับ “หลัง Boiler Room มีโปรเจ็กต์เกี่ยวกับผู้ชายหลายโปรเจ็กต์ติดต่อให้ยังเกอร์ไปกำกับ เพราะ Boiler Room เป็นหนังที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง แต่ Prime จะเป็นหนังเผยอีกด้านหนึ่งของตัวละครที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง”
ทอดด์รู้สึกทึ่งที่ผู้ชายอายุ 32 ปี อย่างยังเกอร์เข้าใจจิตใจผู้หญิงอายุ 37 ที่เพิ่งหย่าร้างได้ดีมาก “หนังหลายเรื่องที่พูดถึงผู้หญิงช่วงอายุนี้มักจะนำเสนอออกมาเหมือนๆกัน” ทอดด์กล่าว “ถ้าคุณเป็นตัวละครผู้หญิงอายุเกิน 32 ปี สิ่งคุณต้องมีคือลูกหรือไม่ก็สามีรวยๆ เบนทำดีมากที่สร้างนางเอกให้ซับซ้อน เปราะบาง แต่ไม่น่าสมเพช ฉันว่าอย่างนี้ดีนะ”
“Prime พูดถึงคำถามที่ผู้หญิงต้องต้องหาคำตอบกันต่อไป” ยังเกอร์เผย “ฉันอยากมีความรัก อยากมีคู่รักจริงเหรอ? ฉันอยากมีลูกหรือเปล่านะ? จำเป็นหรือเปล่าที่ต้องแต่งงาน? หรือแค่หาพ่อเด็กให้ได้ก็พอ? คำถามพวกนี้คนรุ่นก่อนไม่เคยสงสัยมาก่อน สถานะความเป็นแม่ไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
แล้วสาวแมนฮัตตันคนหนึ่งคิดอย่างไรน่ะเหรอ? ราฟี่เริ่มมองเห็นว่ามีทางเลือกหลายทางเมื่อเธอก้าวเข้าสู่อีกช่วงหนึ่งของชีวิต พอมีโอกาสเรื่องความรักอีกครั้ง เธอก็ไม่ปล่อยให้มันหลุดลอยไป บทหนังอันชาญฉลาดและลึกซึ้งของยังเกอร์โดนใจแฟนพันธุ์แท้หนังโรแมนติคคอเมดี้อย่างเธอร์แมนเต็มๆ “บทหนังตลกสุดๆ ขณะเดียวกันก็สะเทือนใจและสมจริง ฉันชอบมาก”
เธอร์แมนเล่าว่า “ราฟี่กำลังหันหลังให้ชีวิตแต่งงานที่ไม่สมหวัง เธอกังวลว่าจะเจอใครซักคนและมีลูกได้ทันเวลาก่อนจะแก่เกินไปหรือเปล่า แล้วเธอก็เศร้า ราฟี่ผ่านความผิดหวัง ความเจ็บปวด และความกังวลใจมากมายในช่วงชีวิตนี้”
“ตอนนี้เหมาะที่สุดสำหรับอูม่าที่จะมารับบทนี้” ยังเกอร์กล่าว “เธอถ่ายทอดบทราฟี่ได้อย่างที่ผมจินตนาการเปี๊ยบเลย ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใครมาเล่นดี แต่อูม่าทำให้ผมประทับใจมาก ผมรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นตอนที่ราฟี่เดทกับเดฟ ความเจ็บปวดตอนที่เธอพบจิตแพทย์ และความยินดีตอนที่เอาชนะความเจ็บปวดนั้นได้ด้วย”
สตรีพก็เห็นด้วยกับยังเกอร์เรื่องฝีมือของอูม่า มีหลายฉากที่ลิซ่าและราฟี่ต้องเผยความรู้สึกต่อกันอย่างหมดเปลือก และสตรีพก็รู้สึกว่าเธอร์แมนมีพรสวรรค์มาก เพราะเธอแสดงด้วยความกระตือรือร้นและเป็นธรรมชาติ “ฉันทึ่งมาก ไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆแล้วเธอเป็นนักแสดงที่เก่งขนาดนี้ กระทั่งได้มานั่งตรงข้ามดูเธอแสดงนี่แหละ”
เรื่องราวดำเนินมาถึงจุดหักเหเมื่อความจริงเปิดเ เดวิด เป็นลูกชายคนเดียวของดร.ลิซ่า จิตแพทย์ของราฟี่ ซึ่งนั่นนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ทั้งน่าขันและกระอักกระอ่วน เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำให้ตัวละครเสียศูนย์ “พอเป็นลูกชายตัวเอง ลิซ่ากลับรับไม่ได้ที่แฟนลูกไม่ใช่ยิว” ยังเกอร์เล่า “แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ต้องให้คำปรึกษาที่เป็นกลางกับราฟี่ว่าควรจะเดทยังไงใช้ชีวิตยังไง ผมชอบความขัดแย้งนี้มาก”
ลิซ่าทำให้เดวิดและราฟี่เครียด เธอเป็นเหมือนฝันร้ายของทั้งคู่ “ลิซ่ากับเดวิดเป็นคู่แม่ลูกแบบยิวแท้ๆ” ยังเกอร์อธิบาย “ลิซ่าหวงลูกจนเกินเหตุและต้องการจะถนอมเขาไว้กับอกตลอดเวลา” ลิซ่าคิดว่าถ้าเดวิดมีแฟนเป็นยิวเหมือนกันจะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล
สตรีพบอกว่า “ลิซ่ากลัวว่าลูกชายจะได้ผู้หญิงที่จะทำให้ชีวิตของเขาที่ยุ่งยากอยู่แล้วยุ่งยากขึ้นไปอีก เป็นธรรมดาที่คนเป็นพ่อแม่หวังจะกำจัดสิ่งที่ทำให้ลูกไม่มีความสุข นั่นแหละที่ทำให้พ่อแม่เจ้ากี้เจ้าการ”
หัวใจของ Prime ก็คือ มันเป็นเรื่องราวความรักที่พูดถึงบทบาทของสิ่งอื่นนอกเหนือจากความรัก ทั้ง อายุ, ประสบการณ์, วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งล้วนส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งสิ้น “หนังตั้งคำถามว่า ‘ความรักอย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือ?’” ยังเกอร์อธิบาย “คนคู่นี้รักกันก็จริง แต่ก็ต้องดิ้นรนเพราะไม่สามารถตอบความต้องการของกันและกันได้ มันจึงเป็นความรักแบบหวานปนขม ไม่ใช่รักหวานซึ้งแบบเทพนิยาย หนังพูดถึงบทบาทของความรักในความสัมพันธ์หนึ่งๆ ซึ่งดูหนังแล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่ทุกอย่าง”
เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ทั้งราฟี่และเดวิดก็ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจที่สำคัญหลายต่อหลายครั้ง “เดวิดเติบโตจากเด็กผู้ชายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว” กรีนเบิร์กกล่าว “เขาเรียนรู้ว่าตนเองต้องการอะไรและกล้าที่จะทำสิ่งนั้น ส่วนราฟี่ซึ่งไม่รู้เลยว่าจะเป็นผู้หญิงเข้มแข็งได้ยังไง ก็แกร่งขึ้นจากประสบการณ์ความสัมพันธ์ครั้งนี้”
สมดุลบทบาทของแม่และจิตแพทย์
“เห็นแล้วใช่มั้ยล่ะว่าแม้แต่จิตแพทย์ก็มีครอบครัวเพี้ยนๆเหมือนกัน” — ลิซ่า
ไม่เคยมีตำราเล่มไหนบอกว่า ฉากตลกสามารถเกิดขึ้นได้ในการบำบัดจิต แต่ช่วงที่ตลกที่สุดช่วงหนึ่งของ Prime คือฉากบนโซฟาจิตแพทย์ตอนที่ราฟี่ไปพบดร.ลิซ่าและรู้ความจริงเรื่องเดวิด ยังเกอร์บอกว่าฉากระหว่างเธอร์แมนกับสตรีพนี้คือไฮไลต์ของเรื่องเลยทีเดียว
“นี่คือหนัง เมอร์รีล-อูม่า แห่งประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้” ทอดด์กล่าว “ถ้าเป็นดาราไม่ดังเท่าไหร่และใช้ฟิล์ม 16 มม.ถ่าย ก็คงดีมากอยู่แล้ว แต่นี่เราผสานความเป็นหนังอินดี้กับหนังใหญ่ที่มีดาราดังเข้าไว้ด้วยกัน”
“คุณอาจจะรู้สึกเขินๆเวลาชมเมอร์รีลว่าเธอเก่งสุดๆ” ผู้กำกับเล่า “แต่คุณไม่รู้หรอกว่าแค่เทคแรกของเธอก็ไม่มีอะไรให้ติแล้ว เธอแสดงออกมาเหมือนอย่างที่คุณจินตนาการไว้ตอนเขียนบท ซึ่งสำหรับนักแสดงคนอื่นอาจต้องเทคเป็นสิบเทคกว่าจะได้อย่างที่คุณต้องการ เธอให้ในสิ่งที่คุณคาดไม่ถึง แล้วก็ให้หลายๆแบบด้วย”
สำหรับสตรีพ บทดร.ลิซ่าเป็นโอกาสให้ได้ขยับต่อมฮา แต่ทั้งยังเกอร์และเมอร์รีลต่างเห็นพ้องกันว่าเธอไม่ควรเป็นตัวเรียกเสียงฮา แต่เธอจะแสดงให้เห็นความกดดันของลิซ่าที่ต้องแบ่งภาคให้ถูก ทั้งการเป็นหมอที่ดี และแม่ที่ดี สตรีพรู้สึกว่าลิซ่าคือผู้หญิงที่มีชีวิตคาบเกี่ยวอยู่ในโลก 2 โลก ในฐานะจิตแพทย์ เธอก็เทใจให้งานและรู้ดีว่าตนเองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนไข้มาก แต่ในฐานะแม่ ลิซ่ากลับมองลูกว่าเป็นเด็กอายุ 15 ตลอดเวลา แทนที่จะยอมรับว่าเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เธอก็เลยอดเป็นห่วงลูกไม่ได้
“สตรีพสร้างตัวละครแม่ที่ไม่อาจทำใจไม่ให้ก้าวก่ายชีวิตลูกชายได้ และยังถ่ายทอดชีวิตผู้หญิงวัย 50 ของตัวเธอเองด้วย” เจนนิเฟอร์ ทอดด์กล่าว “ในที่สุดลิซ่าก็ได้เรียนรู้ว่าเธอไม่สามารถควบคุมชีวิตลูกชายได้ ที่สุดแล้วเธอก็ยอมรับได้ว่าลูกต้องมีหนทางของตัวเองซึ่งอาจเป็นทางที่เธอไม่ได้เลือกให้”
“เมอร์รีลมีตลกสุดๆ” เธอร์แมนหัวเราะ “เธอสร้างสรรค์และ ฝีมือเฉียบและน่ารักมาก ฉันงี้เกร็งเลย ความจริงเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันเป็นนักแสดงนะ เพราะฉะนั้นพอมานั่งตรงข้ามกันเลยมันอะไรที่ประหม่ามาก แต่สุดท้ายฉันก็ได้รู้ว่าเธอเป็นคนน่ารักและเป็นนักแสดงที่ทุ่มเท”
ขบวนการตามหาพระเอก
“ถ้างั้นก็อย่าเริ่มต้นประโยคว่า ‘แม่ผม...นะ” — ราฟี่พูดกับเดวิด
เมื่อมีแม่จอมจู้จี้ก็ต้องมีลูกชายผู้น่าน่ารัก หลังจากได้นักแสดงยอดฝีมือมารับบทราฟี่และลิซ่าแล้ว ทางทีมงานก็ต้องค้นหานักแสดงที่จะมารับบทเดวิดซึ่งเป็นงานที่ยากมาก “เราต้องการนักแสดงหนุ่มมากพรสวรรค์ที่มีเสน่ห์พอจะประคองตัวเองท่ามกลางรัศมีของอูม่ากับเมอร์รีล” เจนนิเฟอร์ ทอดด์ “และต้องเป็นคนที่สามารถแสดงเป็นหนุ่มยิวแสนดีจากนิวยอร์คได้ และดูไม่ขัดหากรับบทเป็นลูกของเมอร์รีล”
ยังเกอร์เสริมว่า “เดวิดต้องมีคุณสมบัติของผู้ชายที่ดึงดูดอูม่าได้ แต่ก็ยังเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อแบบเด็กๆซึ่งนำความขัดแย้งมาสู่ความสัมพันธ์”
ยังเกอร์ไม่คิดมาก่อนเลยว่าผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่เขาต้องการจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ไบรอัน กรีนเบิร์ก เพราะตอนนั้นกรีนเบิร์กก็ไม่ได้ต่างจากนักแสดงหนุ่มคนอื่นๆที่กำลังตบเท้าเข้าฮอลลีวูดเท่าใดนัก ผลงานที่ผ่านมาของเขาได้แก่ ซีรี่ย์ทางโทรทัศน์เรื่อง One Tree Hill และ Unscripted ที่อำนวยการสร้างโดย จอร์จ คลูนีย์ และ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก
“ผมคิดไว้หลายคนก่อนจะเลือกกรีนเบิร์ก” ยังเกอร์ยอมรับตรงๆ “แต่พอผมจับเขาให้อยู่ในห้องกับอูม่า ก็ได้เห็นว่าสองคนนี้เข้าคู่กันดีมาก ซึ่งผมไม่เคยคาดคิดมาก่อน”
ตอนที่อ่านบทครั้งแรก กรีนเบิร์กก็ต้องประหลาดใจ เพราะตัวละครเดวิดคล้ายตัวจริงของเขามาก กรีนเบิร์กเป็นยิวเหมือนเดวิด เข้าใจบรรยากาศของมหานครนิวยอร์คเพราะเขาเคยอยู่ที่นี่ประมาณ 5 ปี และเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คด้วย ที่สำคัญ ทั้งพ่อและแม่ของกรีนเบิร์นต่างก็เป็นจิตแพทย์ทั้งคู่
“ไบรอันน่าทึ่งมาก” ท็อดด์เล่า “เขาอ่านบทหลายรอบ และบอกว่าเขารู้ว่าเขาคือตัวละครตัวนี้ เขามั่นใจมาก” ความมั่นใจและความทุ่มเททำให้กรีนเบิร์กได้บทนี้ในที่สุด “ผมดีใจสุดๆเลยตอนรู้ว่าได้บทนี้จริงๆ สิ่งแรกทีทำคือโทรไปหาแม่ แล้วบอกว่า ‘แม่ ผมได้บทนี้แล้ว และสตรีพจะรับบทเป็นแม่ล่ะ’ แล้วก็อุทานว่า ‘โอ้ พระเจ้า’”
หลังจากนั้นยังเกอร์ก็ให้กรีนเบิร์กย้ายมาอยู่นิวยอร์คหลายเดือนก่อนเปิดกล้องเพื่อเตรียมตัวสำหรับบท “เบนบอกว่า ‘คุณต้องมาอยู่นิวยอร์ค ผมอยากให้คุณออกไปข้างนอกกับผม ไปกับครอบครัวผม คุณต้องอ่าน The New Yorker และวาดภาพด้วย’” กรีนเบิร์กเล่า “เขาไม่ดูแลเรื่องการเดินทางของผมด้วยซ้ำ เขาบอกว่าผมต้องใช้รถไฟใต้ดิน”
กรีนเบิร์กกลัวว่าจะดับเมื่อต้องเข้าฉากกับสตรีพ แต่พอได้ร่วมงานกับตำนานแห่งฮอลลีวูดจริงๆ เขากลับบอกว่า “สบายกว่าที่คิด เมอร์รีลทำการบ้านมาดีมาก พอถึงเวลาเข้าฉาก เธอจะส่งอารมณ์ให้คุณ คุณก็แค่รับมาและแสดงไปตามนั้น”
สตรีพเองก็สนุกกับการทำงานกับกรีนเบิร์กเช่นกัน “ไบรอันมีคุณสมบัติของเด็กหนุ่มอย่างครบถ้วน เขามีความพร้อมและมีจังหวะการแสดงที่ดี” และแล้วสตรีพก็กลายเป็นอาจารย์ด้านการแสดงของกรีนเบิร์ก “ฉันอยากสอนเขาไปซะทุกเรื่องเลยล่ะ” สตรีพหัวเราะ
กรีนเบิร์กยกความดีความชอบให้นักแสดงร่วมที่ทำให้การก้าวสู่จอภาพยนตร์ของเขาเป็นไปอย่างราบรื่น “เป็นเกียรติสำหรับผมมากเลยที่ได้ทำงานกับนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างเมอร์รีล สตรีพ และ อูม่า เธอร์แมน” กรีนเบิร์กกล่าว “ผมก็นั่งลง ดูพวกเธอ และซึมซับวิธีการแสดง อูม่าใส่รายละเอียดเพิ่มเข้าไปในละครอย่างที่ไม่มีในบท ซึ่งนั่นทำให้ผมเรียนรู้เยอะมาก”
ภาพยนตร์ของคนนิวยอร์ค
เรื่องราวความรักกับมหานครนิวยอร์คเป็นของคู่กัน นักดูหนังตกหลุมรักเมืองนี้ทุกครั้งที่มันขึ้นจอ ไม่ว่าจะเป็นใน Affair to Remember หรือ Moonstruck และภาพรวมของแมนฮัตตันก็เหมาะจะเป็นฉากหลังของ Prime มาก
“นิวยอร์คคือแรงบันดาลใจของเรื่องนี้” ยังเกอร์กล่าว “เพราะมันมีความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมสูง และความขัดแย้งที่ปรากฎในบทหนังก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตคนนิวยอร์คนั่นเอง”
ด้วยความที่หนังพูดถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมประสาทๆ Prime จึงกลายเป็นหนังรักแบบนิวยอร์ค “ผมชอบถ่ายหนังในนิวยอร์คมาก” ยังเกอร์ผู้เกิดและโตในบรู๊คลินเปิดใจ “ตอนกำกับ Boiler Room ผมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ถ่ายทำในนิวยอร์คทั้งหมด ใน Prime ก็เช่นเดียวกัน ผมเป็นคนนิวยอร์ค ผมเขียนบทหนังที่นี่ มันจึงเป็นหนังของเมืองนี้”
“นิวยอร์คเป็นตัวละครหนึ่งของหนัง” ทอดด์กล่าว “มันเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ แล้วก็เหมาะจะเป็นฉากหนัง อีกอย่างมันก็โรแมนติคด้วย โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วงอย่างตอนที่เราเริ่มถ่าย”
สตรีพเองก็เห็นด้วย “นิวยอร์คเหมาะสำหรับถ่ายหนังมาก มันเหมือนถ่ายทำบนถนนของเมืองเล็กๆน่ะ”
และเพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นนิวยอร์คที่น่าเชื่อถือ ยังเกอร์ได้คัดเลือกนักแสดงที่เป็นคนนิวยอร์คแท้ๆอย่าง แอนนี่ แพริสซี่ กับ จอน อับราห์ฮัม มารับบท แคทเธอรีนและมอร์ริส เพื่อนสนิทของราฟี่ และ เดวิด ตัวสร้างเสียงหัวเราะอีกด้วย “สองคนนี้ตลกมาก “ยังเกอร์กล่าว “พวกเขาแสดงสมทบอูม่าและไบรอันได้เยี่ยมยอด และถ่ายทอดความเป็นนิวยอร์คได้สมบูรณ์แบบ”
แพริสซี่ผู้รับบทเป็นเพื่อนซี้ขี้กังวลของอูม่า สนุกกับการสร้างมิตรภาพที่แท้จริงระหว่างแคทเธอรีนและราฟี่ “แคทเธอรีนเป็นห่วงราฟี่มาก เธอจะคิดว่า ‘เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน เรื่องนี้มันจะเป็นไงต่อไปเนี่ย หมอนี่เป็นใคร เค้าจะดีกับเธอมั้ย’ อะไรประมาณนี้” แพริสซี่เล่า
ส่วนมอร์ริสนั้น “เป็นพวกโรคจิตครับ” อับราห์ฮัมยอมรับว่ามอร์ริสเป็นพวกขี้แพ้ที่โปะพายใส่หน้าผู้หญิงทุกคนที่ปฏิเสธเขา “มอร์ริสจะเดทกับสาวไหนก็ได้ในนิวยอร์ค แต่เขากลับทำอะไรแย่ๆในนัดครั้งแรกจนไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากออกมากับเขาอีก ดังนั้น วิธีการบรรเทาความเครียดจากการถูกเมินของมอร์ริสก็คือการโยนพายใส่หน้าสาวๆเหล่านั้น” เดวิดคือคนที่ช่วยยั้งมอร์ริสจากการกระทำบ้าๆนั่น
หาสถานที่ถ่ายทำ
นอกจากฉากบำบัดจิตที่ถ่ายทำในสตูดิโอ ยังเกอร์ก็อยากถ่ายทำในสถานที่จริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สถานที่หลายแห่งถูกระบุในบทหลายเดือนก่อนเริ่มถ่ายทำ ทีมงานยกกองจากเชลซีเพียส์ ไปบรองซ์ ไปกรีนพอยท์ เพื่อถ่ายทำในหลายๆอพาร์ทเมนท์ (มีฉากที่ถ่ายทำในอพาร์ทเมนท์เก่าของยังเกอร์ด้วย) และยังยกกองไปสถานที่ยอดฮิตในนิวยอร์คอย่างร้าน Dean & Deluca และ Magnolia Bakery ด้วย
“ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหนก็ต้องถ่ายในสถานที่จริง” ยังเกอร์เผย “สำหรับหนังที่ระบุชัดเจนว่าตัวละครเป็นคนนิวยอร์ค และยังพูดถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม คุณต้องถ่ายทำในสถานที่นั้นๆจริงๆ ผมเองก็พยายามทำทุกอย่างให้หนังดูสมจริงที่สุด”
ผู้กำกับภาพ วิลเลี่ยม เร็คเซอร์ ซึ่งเป็นคนนิวยอร์คโดยกำเนิดกล่าวถึงความสำคัญของการถ่ายทำในสถานที่จริงว่า “ผมบอกได้เลยว่าหนังเรื่องไหนไม่ได้ถ่ายในนิวยอร์ค เพราะมันจะรู้สึกเลยว่าไม่ใช่ ทั้งตึกรามบ้านช่อง ขนาดของถนน แสงที่ตกกระทบ และผู้คนที่เดินผ่านไปมาจะบอกได้เลยว่านี่คือนิวยอร์ค”
เขาเล่าต่อว่า “เบน, มาร์ค และผมเลือกสถานที่ที่คนนิวยอร์คคุ้นเคย ซึ่งแม้ไม่ได้ถ่ายง่ายๆ แต่ทีมงานก็พยายามจนสำเร็จ เป้าหมายของเราก็คือ ให้ผู้ชมได้เห็นสถานที่ที่คนนิวยอร์คอย่างเรารัก และทำให้เขาตกหลุมรักเมืองของเรา”
ทอดด์เพิ่มเติมว่า “นิวยอร์คมีสถาปัตยกรรมเฉพาะ คุณมองหน้าต่าง เพดาน แทงก์น้ำ รถแท็กซี่ก็รู้ว่าเป็นที่นี่จริง และมันก็เป็นโลกของหนังเรื่องนี้โดยแท้” ด้วยทีมงานและนักแสดงที่เป็นคนนิวยอร์คเกือบทั้งหมด การทำงานก็เลยให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน มีหลายครั้งที่เพื่อนๆของทีมงานแวะมาทักทายขณะถ่ายทำ วันหนึ่ง ในฉากที่ถ่ายทำถัดจากอพาร์ทเมนท์ของสตรีพแค่ช่วงตึกเดียว เธอก็พาสุนัขคู่ใจมาเข้าฉากด้วยในบทตัวแระกอบ โชคไม่ดีที่ฉากนั้นโนตัดทิ้ง ไม่อย่างนั้นเจ้าตูบน้อยคงได้แจ้งเกิดตามเจ้านายแน่ๆ
“การได้ยืนทำงานใกล้ๆร้านกาแฟร้านโปรด ทำให้ฉันรู้สึกดีมาก” เธอร์แมน ผู้อาศัยอยู่ในแมนฮัตตันตั้งแต่อายุ 15 ปีกล่าว “ถ่ายทำในฉากที่จัดขึ้นหรือในที่ที่ไม่มีความหมายอะไรกับคุณเลยก้เหมือนทำงานในความว่างเปล่า”
ขณะที่สถานที่ถ่ายทำสร้างความสมจริงให้กับหนัง มันก็เป็นความท้าทายของทีมงานด้วย อพาร์ทเมนท์ของราฟี่ซึ่งเป็นสถานที่พลอดรักของเธอกับเดวิดนั้น ถ่ายทำยากมาก “มันควบคุมเสียงยาก” ทอดด์ยอมรับ “ทั้งเสียงจ้อกแจ้กบนถนน เสียงในตึก เสียงเพื่อนบ้าน เสียงตะโกนโหวกเหวกของคนที่เดินไปมา เสียงแตรรถ แถมยังมีเครนยกของ บันได ฝนก็ตก แต่ถึงยังไงมันก็คุ้มนะ”
นักแสดง
เมอร์รีล สตรีพ รับบทเป็น ลิซ่า เม็ทสเกอร์
ทำลายสถิติเข้าชิงรางวัลออสการ์ 13 ครั้ง จาก The Deer Hunter (1978), Kramer & Kramer (1979), The French Lieutenant’s Woman (1981), Sophie’s Choice (1982), Silkwood (1983), Out of Africa (1985), Ironweed (1987), A Cry in the Dark (1988), Postcards from the Edge (1990), The Bridges of Madison County (1995), One True Thing (1998), Music of the Heart (1999), The Adaptation (2002)
คว้ามาได้ 2 รางวัล คือ
- รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จาก Kramer & Kramer
- รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จาก Sophie’s Choice
ได้รับรางวัลซีซาร์ที่มอบเป็นเกียรติแก่นักแสดงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ เมื่อปี 2003 ที่ปารีส และยังเป็นพลเรือนคนเดียวที่ได้รับรางวัล Commandeur de L’Oder des Arts et des Letrres (รางวัลด้านศิลปะและอักษรศาสตร์) จากรัฐบาลฝรั่งเศสอีกด้วย
ผลงานล่าสุดคือ Angels in America ของผู้กำกับไมค์ นิคโคล และ The Manchurian ของโจนาธาน เดมมี่
อูม่า เธอร์แมน รับบทเป็น ราฟี่ การ์เด็ท
ผลงานเด่น ได้แก่ The Adventure of Baron Munchausen (1988), Dangerous Liaisons (1988), Pulp Fiction (1994), The Truth About Cats and Dogs (1996), Batman & Robin (1997), Gattca (1997), Les Miserable (1998), Sweet and Lowdown (1999), Tape (2001), Kill Bill Vol.1 (2003), Kill Bill Vol.2 (2004), Be Cool (2005), The Producers (2005)
เข้าชิงรางวัลออสการ์และรางวัลลูกฌลกทองคำสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Pulp Fiction (1994)
เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจาก Kill Bill Vol.1 (2003) และ Kill Bill Vol.2 (2004)
เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากซีรี่ย์ทางโทรทัศน์เรื่อง Hysterical Blindness (2002)
ไบรอัน กรีนเบิร์ก รับบทเป็น เดวิด เม็ทซเกอร์
ไบรอัน กรีนเบิร์ก คือหน้าใหม่ของวงการที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วทั้งผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ และกำลังก้าวสู่ตำแหน่งนักแสดงแถวหน้าอย่างเต็มตัว
ผลงานทางโทรทัศน์ที่ผ่านมาของเขา ได้แก่ ซีรี่ย์ยอดนิยมของ WB เรื่อง One Tree Hill ที่เขาแสดงเป็นหนุ่มไฮสคูลนักบาสเก็ตบอลที่กลายเป็นคุณพ่อคนใหม่ และ ซีรี่ย์ HBO เรื่อง Unscripted นอกจากนี้กรีนเบิร์กยังเป็นแขกรับเชิญในซีรี่ย์ Boston Public, Third Watch, Providence และ The Sopranos อีกด้วย
ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมาของกรีนเบิร์ก ได้แก่ The Perfect Score ประกบ เอริก้า คริสเตนเซ่น และ สการืเล็ต โจแฮนสัน, A Civil Action ประกบ จอห์น ทราโวต้า
ทีมงาน
เบน ยังเกอร์ — เขียนบท / กำกับ
เบน ยังเกอร์เกิดและโตในนิวยอร์ค หลังจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัย Queens College เขาก็เข้าทำงานเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและผู้จัดโครงการ (ตอนอายุ 21 ปีซึ่งน้อยที่สุดในนิวยอร์คขณะนั้น) ต่อมายังเกอร์ก็พบว่าตนเองไม่ชอบงานสาขานี้ และอยากทำงานด้านภาพยนตร์มากกว่า เขาจึงพยายามเอาตัวเข้าไปมีเอี่ยวกับโปรเจ็กต์หนังและมิวสิควีดีโอหลายเรื่อง และแล้วขณะที่ไปสัมภาษณ์งานในบริษัทนายหน้าค้าหุ้นแห่งหนึ่งในลองไอส์แลนด์ ยังเกอร์ก็ได้แรงบันดาลใจสำหรับบทหนังเรื่องแรก นั่นก็คือ Boiler Room ที่เขาทั้งกำกับและเขียนบท นำแสดงโดย วิน ดีเซล และ จิโอวานนี่ ริบิชี่
ซูซาน และ เจนนิเฟอร์ ทอดด์ — อำนวยการสร้าง
ผลงาน
- G.I. Jane
- Austin Powers ทุกภาค (ทำรายได้กว่าพันล้านดอลล่าร์ทั่วโลก)
- Memento (รางวัล Independent Spirit Award สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2000)
- If These Walls Could Talk
- Must Love Dogs
- Across the Universe
มาร์ค กอร์ดอน - อำนวยการสร้างบริหาร
ผลงาน
- Casanova
- The Day After Tomorrow
- The Patriot
- Saving Private Ryan
- Tomb Raider
- Man on the Moon
- Primary Color
- A Simple Plan
- The Jackal
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--