กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน
“วรรณรัตน์” เร่งเครื่องแผนพลังงานทดแทน 15 ปี เดินหน้าจัดรับฟังความเห็นทั่วประเทศให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2551 เริ่มครั้งแรกที่โคราช วันที่ 27 ต.ค. นี้ ตั้งเป้าเป็นแผนแม่บทพลังงานทดแทนแห่งชาติ หวังลดใช้พลังงานลง 22.5 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ประหยัดเงินได้ 608,000 ล้านบาทต่อปี
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง ความคืบหน้าด้านนโยบายการผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มครั้งแรกที่ จ. นครราชสีมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 นี้ และจะดำเนินให้ครบทั้ง 4 แห่ง ภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ทั้งนี้ การจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศในปี 2565 จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2554 เท่านั้น (ปัจจุบัน มีการใช้พลังงาน ร้อยละ 5.8 ประหยัดเงินได้ 94,000 ล้านบาทต่อปี) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ โดยมั่นใจว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี จะช่วยให้ประเทศไทย ลดใช้พลังงานลง 22.5 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือประหยัดการนำเข้าพลังงานได้ 608,000 ล้านบาท ต่อปี รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 42 ล้านตัน ภายในปี 2565
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า ภายใต้กรอบการจัดทำแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับแนวหน้าของเอเชียที่มีศักยภาพสูง ควบคู่ไปกับแผนวิจัยพลังงานให้มีการสอดรับระหว่างกัน โดยกำหนดเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น จะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง และมีผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ระยะกลาง จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนภายในประเทศ เป็นการสร้างอุตสาหกรรม และบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอนาคต ให้อุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ประกอบกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้พึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาดต่อไป และระยะยาวจะเน้นการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เก๋ 086-789-8060 / จ๋า 089-434-2953