กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สคส.
ในปัจจุบัน ความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในคน (Tacit Knowledge) นับเป็นคลังความรู้ใหญ่ของสังคมที่ไม่สามารถหาหรือศึกษาได้จากสถาบันการศึกษาใดในโลก ซึ่งความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ที่ยังมีอยู่ในสังคม แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ชนิดนี้เท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชนจำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความรู้ในคน มีการใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ “จัดการความรู้”(Knowledge Management:KM) เพื่อเป้าหมายในการพัฒนางาน พัฒนาศักยภาพการทำงาน โดยใช้ “ความรู้เป็นฐาน” ในการพัฒนาในทุกๆ เรื่อง อีกทั้งยังมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านบวกตั้งแต่กระบวนทัศน์ ไปจนถึงวิสัยทัศน์ที่มี “ธรรมมะ” เป็นฐานคิด
ดังนั้นสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนของสังคมไทย นำการจัดการความรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร หน่วยงาน กลุ่ม ชุมชน ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา และค้นพบผลที่เป็นรูปธรรมอันเกิดขึ้นจากการจัดการความรู้มากมาย จึงได้จัดงาน “มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3” ขึ้นระหว่าง วันที่ 1-2 ธันวาคม 2549 ณ ศูนย์นิทรรศการ และการประชุมไบเทค บางนา เพื่อนำเสนอตัวอย่าง องค์กร/หน่วยงาน/กลุ่ม/ชุมชน ที่นำการจัดการความรู้ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคนและงาน รวมทั้งการขยายเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปนอกหน่วยงาน ซึ่งมีทั้งรูปแบบการจัดการความรู้อย่างเต็มรูป และ รูปแบบการจัดการความรู้ที่กลมกลืนกับเนื้องาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ได้เรียกว่า “จัดการความรู้”
โดยกิจกรรมภายในงานมหกรรมการจัดการความรู้ฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิต ขององค์กร/หน่วยงาน/ กลุ่ม /ชุมชน ต่างๆ กว่า 40 เรื่อง และการจัดเสวนาห้องย่อยอีก 20 ประเด็น เช่น ห้องเครือข่ายเพื่อนใจวัยรุ่น โดยกรมสุขภาพจิต ห้องการจัดการความรู้กับการพลิกฟื้นศักยภาพความเป็น “คุณ” ของมูลนิธิข้าวขวัญ หรือ ห้องหลุมดำ เป็นการสื่อถึง “กับดัก” ที่ทำให้คน หรือองค์กรไขว้เขวระหว่างการศึกษา การฝึกอบรม การเรียนรู้ และ “การจัดการความรู้” เป็นต้น
กิจกรรมเสวนาห้องย่อย : งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3
“ห้องเครือข่ายเพื่อนใจวัยรุ่น” โดยกรมสุขภาพจิตซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลเรื่องการพัฒนาEQในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนไทย ได้จัดให้มีกิจกรรมการให้คำปรึกษาและพัฒนาEQ ขึ้นในศูนย์เพื่อนใจวันวัยรุ่น หรือ TO BE NUMBER ONE FRIEND CORNER ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการมาได้ก่อเกิดองค์ความรู้ในการให้คำปรึกษาของครูพี่เลี้ยงขึ้นมากมาย สิ่งที่น่าจะได้เรียนรู้จากห้องนี้คือ ได้เห็นจุดก่อเกิด การเดินทาง และการสานต่อ ผ่านแนวคิด ในกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งของครูพี่เลี้ยงและตัวแทนเด็กและเยาวชน รวมทั้งเรื่องเล่าความสำเร็จของตัวแทนเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการจุดประกายการขับเคลื่อนการส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เด็กและเยาวชน ให้เกิดรูปธรรมการปฎิบัติจริงและเห็นผลลัพธ์ที่แท้จริง
“ห้อง การจัดการความรู้กับการพลิกฟื้นศักยภาพความเป็น “คุณ” โดย มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งประยุกต์ใช้การจัดการความรู้กับกิจกรรมโรงเรียนชาวนา เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แต่สร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด เริ่มจากการสร้างกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา นักเรียนชาวนา หลายคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด อย่างน่าแปลกใจ หลายคนเป็นวิทยากรให้แก่ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ทำให้ได้รู้ว่า การจัดการความรู้เป็นเรื่องสากล ที่ใครจะหยิบใช้ก็ได้ ห้องนี้จะเป็นการจำลองรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนชาวนา 3 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรการจัดการแมลงโดยชีววิธี 2.หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี 3.หลักสูตรการพัฒนาพันธุ์ข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เจาะเอาเฉพาะหัวใจของเรื่องมาย่อให้เหลือเพียง 3 ชั่วโมง
“ห้องจัดการความรู้ของ มรภ. กับการสร้างเครือข่ายเพื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง” เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือ มรภ.ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเครือข่าย 40 แห่งทั่วประเทศ จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ กันที่นี่เพื่อมุ่งเป้าไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
“ห้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต” บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของพนักงานอยู่เสมอ ในห้องนี้ท่านจะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ที่ฝังตัวกลมกลืนอยู่ในการบริหารความเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร การใช้กลยุทธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านรูปแบบ Cell Management โดยทีมงาน “คุณอำนวย” จากบริษัทฯ มาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของพวกเขา
“ห้องหลุมดำ” เป็นการสื่อถึง “กับดัก” ที่ทำให้คนหรือองค์กรไขว้เขวระหว่างการศึกษา การฝึกอบรม กับการเรียนรู้ และ “การจัดการความรู้” เป็นการสะท้อนปัญหาที่ทำให้องค์กร หน่วยงานและสังคมไทยไม่สามารถพัฒนาความรู้ “ภายในคน” ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการนำเสนอผ่านรูปแบบนิทรรศการห้องมืดแต่ชวนให้ผู้คนที่เข้าไปดูได้หยุดคิดและไตร่ตรองเพื่อค้นหาความจริงดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีห้องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “ห้องการจัดการความรู้ สร้างสุขได้ไม่ยาก” “ ห้องการจัดการความรู้ในองค์กรทางการศึกษา...ไม่ลองไม่รู้” “ห้องชุมชนคุณอำนวย ร่วมกู่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นต้น
บูธนิทรรศการ : งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3
เครือข่ายการจัดการความรู้ด้านการศึกษา ได้แก่ เครือข่ายโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา, เครือข่ายมหาวิทยาลัย, เครือข่ายโรงเรียนในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ การจัดการความรู้ของ กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช กศน.เกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นต้น
เครือข่ายจัดการความรู้ด้านสุขภาพ ได้แก่ เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน, เครือข่ายการ
จัดการความรู้ เพื่อคนไทยสุขภาพดี จ.ตาก, เครือข่ายการเรียนรู้จังหวัดนครสวรรค์, เครือข่ายการจัดการความรู้กรมอนามัย,เครือข่ายการจัดการความรู้กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลจิรประวัติ และสถาบันบำราศนราดูร, “สร้างนำซ่อม” จัดการความรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข...รพ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น
การจัดการความรู้ภาคธุรกิจ ได้แก่ บริษัทปูนซีเมนต์ (แก่งคอย) จำกัด จ.สระบุรี, บริษัทเอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
การจัดการความรู้ในหน่วยงานภาคราชการ ได้แก่ เครือข่ายจัดการความรู้กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมราชทัณฑ์, การจัดการความรู้ “เกษตร”จังหวัดชุมพร เป็นต้น ภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายโครงการครอบครัวเข้มแข็ง, ชุมชนจัดการความรู้บ้านเปร็ดใน, “ไหล่หิน” ชุมชนจัดการความรู้, การจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน, จัดการความรู้สร้าง “ชุมชนเป็นสุข” จ.ชลบุรี, เครือข่ายโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา, เมืองบัว” การจัดการความรู้ชุมชนปลอดขยะ, “ปูดำ” กับคนรักษ์ป่าเลนที่บ้านบางติบ เป็นต้น